ปิดคดี! ศาลชี้แผนผลิตไฟฟ้ารัฐลดสัดส่วนลงต่ำกว่า 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

09 ม.ค. 2566 | 16:56 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2566 | 00:02 น.

มติศาลรธน.ฟันธงแผนผลิตไฟฟ้าที่กำหนดให้รัฐลดสัดส่วนกำลังผลิตลงต่ำกว่า 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แนะ “กพช.-กกพ.”กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชน-ปริมาณไฟฟ้าสำรอง ให้สอดคล้องความเป็นจริงใช้ไฟฟ้าของประเทศ

 

วันนี้ (9 ม.ค.65) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การกระทำของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้ถูกร้องที่ 1 และ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง 


พร้อมมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การกระทำของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน  และ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง


ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องดำเนินการกำหนดกรอบ หรือ เพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ
 

และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน อันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน ให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ ในแต่ละช่วงเวลา 

 

 

เพราะหากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่น หรือ ศาลอื่นได้

 

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายสุทธิพร ประทุมเทวาพิทักษ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยื่นฟ้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน(พ.ศ 2559-2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ 2561 -2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง