เกมใหม่ ‘ออริจิ้น มิวสิค’ ปั้นศิลปิน เจาะกลุ่ม Gen Z

06 ม.ค. 2566 | 13:48 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 14:58 น.

เปิดแผนปั้น “ออริจิ้น มิวสิค” จากอสังหาฯ สู่วงการบันเทิง เกมใหม่สร้างแบรนด์ผ่านเสียงเพลง ขยายฐานกลุ่ม Gen Z รั้งอันดับ 1 Top of mind ประเดิมปั้นศิลปิน 2 เบอร์แรก ผงาดทุกแพลตฟอร์ม

เพราะเชื่อมั่นว่าธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ยังมีแรงส่งและเติบโตได้ดี แม้ตลาดดนตรีจะดรอปไปบ้างในช่วงที่โควิดระบาดหนัก ทำให้ค่ายเพลงต่างๆ เริ่มทรานฟอร์มขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และลดการจัดคอนเสิร์ตลง แต่ก็ยังมีเสน่ห์ ทำให้บิ๊กอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” รุกเดินหน้าปั้น “ออริจิ้น มิวสิค” (Origin Music) เต็มตัว พร้อมปล่อยศิลปินเบอร์แรก ออกสู่วงโคจร

              

นายอภิสิทธิ์ สุนทรชูเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น มิวสิค จำกัด ในเครือบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังถึงที่มาที่ไปของออริจิ้น มิวสิค ว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ทำตลาดคอนโดจับกลุ่ม Gen Z ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการทำการตลาดประมาณ 15 ล้านบาทหรือ 3% เพื่อทำตลาดและหนังโฆษณาจับกลุ่ม Gen Z

เกมใหม่ ‘ออริจิ้น มิวสิค’ ปั้นศิลปิน เจาะกลุ่ม Gen Z

เมื่อเจอโควิด บริษัทจึงทรานฟอร์มตัวเองขึ้นมา โดยใช้ทีมมาร์เก็ตติ้งที่เป็นกลุ่ม Gen Z และGen Y มาร่วมกันคิดและเปลี่ยนแปลงการทำการตลาดแบบใหม่ เริ่มทำหนังโฆษณา ทำ MV คลิวีดีโอแต่งเพลงเอง และใช้นักแสดงทีมงานของ ออริจิ้นเอง ก่อนจะสปินออฟออกมาเป็นทีมโปรดักชั่นเฮ้าส์ และสร้างผลงานออกมาต่อเนื่อง

              

              

ล่าสุดเมื่อตลาดเริ่มเปิด กอปรกับได้ ครูเอ้ โปรดิวเซอร์และครูสอนร้องเพลงชื่อดัง และครูกานต์ โปรดิวเซอร์ที่เคยผ่าน Grammy และRS มาเข้ามาช่วย จึงเป็นการผสมระหว่างทีมงานเก่ากับคนที่มีประสบการณ์ เราเชื่อว่างานเพลงจะทำให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มคน Gen Zได้เป็นอย่างดี

              

ภายใต้การทำงาน “Origin Music” มุ่งเดินหน้าด้วย 4 Concept คือ 1. Dynamic Move การปรับตัวเองให้ใกล้ชิดกับกลุ่ม Gen Z มากขึ้น 2. Soft Power ขององค์กร โดยปั้นศิลปินจากพนักงานของออริจิ้นที่มีความสามารถด้านต่างๆ และสร้างเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร และลดค่าโปรดักชั่นต่างๆ 3. มองตัวเองเป็น Music Content Creator เพื่อการสร้างคอนเทนต์ต่างๆผ่านงานดนตรี และ 4. เรามองว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นคนที่สร้างแวลูในอนาคตให้กับองค์กรได้

              

“Origin Music เริ่มจากการจับตลาดออนไลน์ เพราะจากการศึกษาพบว่าตลาด YouTube Music Streaming เติบโตเร็วมากในช่วงโควิดถึง 98% หรือมีผู้ใช้งานกว่า 80 ล้านคนทั่วโลก ขยายตัวค่อนข้างสูง ในขณะที่กลุ่ม Music Streaming มีผู้ใช้งาน 7 ล้านคนเติบโตปีละ 10% ปัจจุบันนี้มีคนใช้งาน Music Streaming เกือบ 10 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคนในอีก 5 ปี ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านคน”

              

CEO ออริจิ้น มิวสิค บอกอีกว่า Platform Music Streaming มีเยอะมาก และเพลงก็มีมากขึ้นในตลาด แต่เพลงแบบไหนที่จะทำให้คนฟังเข้าถึงง่าย ดนตรีแต่ละแนวมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง ซึ่งในระยะแรกเราจะเริ่มจาก T-Pop เพราะตลาดนี้มีความน่าสนใจ โดยจะเข้าไปอยู่ในทุกแพลตฟอร์มทั้ง YouTube, joox, spotify และ Apple Music

 

ซึ่งปีแรกบริษัทจะมีศิลปินในค่าย 2 เบอร์ที่เป็นนักร้องและเป็นศิลปินฝึกหัด 1 เบอร์ ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมี 5 ศิลปิน และแผน 5 ปีมองว่าจะปั้นได้ 12 ศิลปิน โดยกลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่ม Gen Z ตั้งแต่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จนถึงวัยเริ่มทำงาน เป็นหลักซึ่งในอนาคตกลุ่มนี้จะต้องมีการเติบโตและขยายไปจนถึงกลุ่ม Gen Y

              

สิ่งที่ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ได้รับจากการแตกไลน์ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ครั้งนี้ “อภิสิทธิ์” บอกว่า การทำค่ายเพลงจะเชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก คือ การสร้างแบรนด์ให้คนรุ่นใหม่รู้จักออริจิ้น ผ่านศิลปินเพราะในอนาคตคนกลุ่มนี้เมื่อเติบโตขึ้น

 

และต้องการมีอสังหาฯ เป็นของตัวเองจะคิดถึงออริจิ้นเป็น Top of mind ขณะเดียวกันบริษัทในกลุ่มออริจิ้นเอง สามารถใช้ “Origin Music” ทำหนังโฆษณาและงานโปรดักชั่นให้กับในธุรกิจใน ORIGIN MULTIVERSE ได้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Beauty, Health หรือโลจิสติกส์

 

“ในอนาคตบริษัทมองไปถึงการพัฒนาศิลปินสายเลือดใหม่ ฝึกสอนทักษะความสามารถให้กับคน Gen Z ที่มีความฝันอยากเข้าสู่เส้นทางบันเทิงและงานเบื้องหน้าต่างๆ ตั้งแต่ศิลปินนักร้อง นักแสดง นายแบบ-นางแบบ พิธีกร Brand Ambassador อินฟลูเอนเซอร์ทั้ง Youtuber และ TikToker และ งานโปรดักชั่นและงานสร้างสรรค์อื่นๆ เช่น ผลิตละครและซีรีส์ ผลิตงานโฆษณา ผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์และการรีวิว Music Marketing ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ กิจกรรมสปอนเซอร์ กิจกรรมอีเวนท์และคอนเสิร์ต

 

ปีแรกเรามองว่าจะเป็นปีของการสร้างปั้นศิลปินก่อน รายได้อาจจะไม่สูงมาก โดยศิลปิน 2 เบอร์แรกคือ เบอร์ลินน่า ในสไตล์เพลงอาร์แอนด์บี-โซล และศิลปินวง Good Mood วงดนตรีมัธยมแนวป๊อปร็อค แต่ในระยะ 5 ปีเราตั้งเป้าเติบโต 15% ต่อปี ซึ่งรายได้หลักจะมารายได้ศิลปิน และรายได้จากช่องทางอื่นเช่น ค่าลิขสิทธิ์งานเพลง งานขึ้นคอนเสิร์ตต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายที่มีรายได้เบื้องต้น 30 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นรายได้จากบริษัทในเครือ 60% และนอกเครือ 40%”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,851 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ. 2566