‘เน็กซ์ พอยท์’ เร่งผลิตรถเมล์อีวี 5 พันคัน ปี 66 ‘เอเชีย-อาเซียน’ รุมจีบตรึม

28 ธ.ค. 2565 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2565 | 18:17 น.

“เน็กซ์ พอทย์” เปิดแผนส่งมอบรถเมล์อีวีปีนี้ 1.2 พันคัน เร่งผลิตรถเพิ่มกว่า 5 พันคัน ภายในปี 66 หลังผู้ประกอบการแห่จองออเดอร์เพียบ ลุย MOU มาเลเซีย สั่งซื้อรถเมล์ EV แตะ 100 คัน เตรียมขยายเส้นทางอีอีซี เดินรถมินิบัสไฟฟ้า เพิ่ม 2 สาย เริ่มไตรมาส 1 ปี 66

กรณีกระทรวงคมนาคม ผลักดันนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพรถโดยสารประจำทางให้ประชาชน ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด ประเภทพลังงานไฟฟ้า (EV) มีเป้าหมายให้บริการภายในปี 2565 ทั้งสิ้น 1,250 คัน ใน 122 เส้นทางที่ปฏิรูปเส้นทางใหม่ รวมทั้งยังมีแผนขยายการให้บริการกับเส้นทางการเดินรถโดยสารในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 237 เส้นทาง เพื่อเป้าหมายลดผล กระทบสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายรัฐบาล ส่งผลให้อุตสาหกรรม  ผลิตและจำหน่ายรถเมล์ EV ได้รับอานิสงส์

 

นายคณิสสร์ ศรีวัชรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX บริษัทผลิตและจัดหารถเมล์ EV เปิดเผยว่าหลังจากส่งมอบให้ผู้ประกอบการนำไปให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 3,195 คัน ปัจจุบันได้ส่งมอบไปแล้วกว่า 600 คัน โดยในปี 2565 ตั้งเป้าหมายจะต้องส่งมอบขั้นตํ่า 1,250 คัน ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และจะทยอยส่งมอบส่วนที่เหลือให้ครบทั้งหมดภายในปี 2566 ทั้งนี้รถที่ส่งมอบดังกล่าวเป็นรถขนาด 11 เมตร มี 31 ที่นั่ง บรรทุกผู้โดยสารได้ 80 คนต่อคัน โดยมีต้นทุนคันละประมาณ 6.8-7 ล้านบาท ใช้เวลา 1 ชม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถวิ่งให้บริการได้ระยะทาง 300-350 กิโลเมตร (กม.) โดยบริษัทฯ จะต้องติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าต้นทาง-ปลายทางด้วย
 

ขณะปี 2566 บริษัทมีแผนผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถ EV) ทุกประเภท จำนวนไม่ตํ่ากว่า 5,000 คัน หลังมีผู้ประกอบการหลายรายสั่ง จองรถอีวีมาแล้ว จำนวน 9,000 คัน ประกอบด้วย รถเมล์ไฟฟ้า, รถตู้ไฟฟ้า, รถบรรทุกไฟฟ้า ขนาด 6 ล้อและขนาด 10 ล้อ โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบให้ผู้ประกอบการนำไปให้บริการภายในเดือนมกราคม  2566 คาดว่าจะส่งมอบรถครบทุกออเดอร์ภาย ในปี 2566 ส่วนการขยายโรงงานผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถ EV) แห่งที่ 2 ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ทิศทางตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้าก่อน

 

 “บริษัทมองว่าทิศทางตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง 1 ในอุตสาหกรรมที่มีการฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว คือ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เชื่อว่าการนำยานยนต์มาใช้ถือเป็นเรื่องดี หากภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สามารถช่วยลดต้นทุนยานพาหนะและต้นทุนด้านพลังงานได้จะทำให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขันทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์ของประเทศ”
 

นอกจากการผลิตรองรับการให้บริการภายในประเทศแล้ว ประเทศในแถบอาเซียนและเอเชีย  ยังสนใจนำรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า (รถเมล์ EV) ของบริษัทไปให้บริการซึ่งล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ( MOU)ร่วมกับมาเลเซียซึ่งอยู่ระหว่างรอมาเลเซียแจ้งออเดอร์คำสั่งซื้อรถเมล์ EV ประมาณ 100 คัน รวมถึงเตรียมส่งมอบรถหัวลากไฟฟ้าให้กับประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 500 กว่าคัน ปัจจุบันญี่ปุ่นมีแผนต้องการเปลี่ยนรถหัวลากไฟฟ้าแทนการใช้รถหัวลากจากนํ้ามันดีเซล คาดว่าจะเริ่มส่งมอบรถให้ญี่ปุ่นได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการประเทศฟิลิปปินส์ที่ให้ความสนใจการนำรถเมล์ EV ไปใช้บริการด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องรอดูประเทศฟิลิปปินส์ว่าจะสนใจร่วมลงนามสัญญาหลังจากเข้าดูโรงงานของบริษัทแล้วหรือไม่ 

‘เน็กซ์ พอยท์’ เร่งผลิตรถเมล์อีวี 5 พันคัน ปี 66 ‘เอเชีย-อาเซียน’ รุมจีบตรึม

ส่วนแผนการเปิดเส้นทางเดินรถ รถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) ขนาด 7.3 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง ระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) ในเส้นทางที่ให้บริการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ปัจจุบันได้ขอใบอนุญาตเส้นทางเดินรถและทยอยบรรจุรถในเส้นทางบางส่วน โดยเปิดให้บริการแล้ว คือ  เส้นทางกรุงเทพฯ-ศรีราชา จำนวน 20 คัน, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 20 คัน หลังจากนั้นมีแผนจะขยายเส้นทางเดิน รถเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-ชลบุรี จำนวน 10-20 คัน และกรุงเทพฯ-ระยอง จำนวน 10-20 คัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566   


สำหรับรถมินิบัสดังกล่าว มีต้นทุนคันละ 3 ล้านกว่าบาท โดยใช้เวลา 1 ชม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถวิ่งให้บริการได้ระยะทางประมาณ 200 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถใช้เวลาชาร์จสั้นลงเหลือประมาณ 15 นาที โดยบริษัทฯ จะติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าต้นทาง-ปลายทางให้เรียบร้อยตามแผนจำนวน 1,700 แห่งทั่วประเทศ

 

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้มีการหารือร่วมกับไบเทคบางนาในการตั้งสถานีชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าและสถานที่จอดรถ รวมทั้งจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในปี 2566 ซึ่งจะให้บริการช่วงต้นทางที่ไบเทค บางนาจากเดิมที่รถโดยสารที่ให้บริการเส้นทางไปยังพื้นที่ อีอีซี โดยต้องขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัย และ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 เท่านั้น ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้โดยสารที่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาลงที่สถานีบางนา แล้วสามารถนั่งรถมินิบัสเดินทางไปยังพื้นที่ อีอีซี ได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าปี 2565 จะมีรายได้จากการผลิตรถประมาณ 8,500 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 จะมีรายได้โตขึ้น 5 เท่า หรือมีรายได้ประมาณ 42,500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนลงทุนวงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค บริเวณ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ขนาดพื้นที่ 500 ไร่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 2566 แล้วเสร็จใน ปี 2568 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50,000 คันต่อปี ซึ่งจะทำให้ในปีดังกล่าว จะมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 60,000 คันต่อปี

 

สำหรับเน็กซ์ พอทย์ ช่วง 9 เดือน ปี 2565 ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน พบว่า มีรายได้รวม 1,768.31 ล้านบาท กำไรสุทธิ -114.23 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ -4.87%