ยกระดับ "ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน 

27 ธ.ค. 2565 | 16:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2565 | 23:08 น.
864

ครม.เห็นชอบ "ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" ซึ่งเป็นทะเลสาบแบบลากูน (lagoon) ขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวของไทย และ 1 ใน 117 แห่งทั่วโลกเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน

27 ธันวาคม 65 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตามที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอ

 

พร้อมกับเห็นชอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ไปสู่การวางแผนบริหารจัดการตามแผนงานและให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตั้งสำนักงาน อัตราเงินเดือนบุคลาการ เพื่อเป็นหน่วยงานบริหารจัดการพื้นที่พิเศษฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป

ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีเนื้อที่รวมประมาณ 3,470,788 ไร่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย

จังหวัดสงขลา 8 อำเภอ

  • อ.ระโนด
  • อ.สะทิงพระ
  • อ.กระแสสินธุ์
  • อ.สิงหนคร
  • อ.เมืองสงขลา
  • อ.ควนเนียง
  • อ.บางกล่ำ
  • อ.หาดใหญ่

จังหวัดพัทลุง 5 อำเภอ

  • อ.เมืองพัทลุง
  • อ.ปากพะยูน
  • อ.บางแก้ว
  • อ.เขาชัยสน
  • อ.ควนขนุน

จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ

  • อ.ชะอวด
  • อ.หัวไทร

 

ทั้งนี้ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ศักยภาพสูง ทั้งในด้านคุณค่าและความโดดเด่นของทรัพยากรท่องเที่ยว และคุณค่าทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่เป็นทะเลสาบแบบลากูน (lagoon) ขนาดใหญ่ที่ทั่วโลกมีอยู่ 117 แห่งของโลก มีความโดดเด่นด้วยการเป็นทะเลสาบที่ได้รับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้ความเค็มในทะเลสาบเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงมีการเรียกขานกันว่า "ทะเลสาบสามน้ำ" และยังเป็นพื้นที่เทือกเขาที่ปกคลุมด้วยป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีการกล่าวถึงในทางประวัติศาสตร์มาเป็นเวลาหลายร้อยปีและคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วยมรดกทางวัฒนธรรมทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ วิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

ขณะเดียวกัน พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลายังมีโอกาสในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญเนื่องจากอยู่ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT:Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ซึ่งมีการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว รัฐบาลให้การส่งเสริมด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดและอาเซียน รวมถึงเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ นี้ จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้เกิดความยั่งยืนด้วยหลักวิชาการ เนื่องจากมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน มีการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องลดความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ เป็นกลไกการบริหารและพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการด้วยการมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ ประสานงานกับท้องถิ่น และมีส่วนร่วมจากชุมชน