ผวาจุดจบประกันรายได้ วังวนซํ้า “จำนำข้าว” ปรามหาเสียงอย่าเว่อร์

23 ธ.ค. 2565 | 07:00 น.
906

นักวิชาการ ชี้จุดจบ “ประกันรายได้เกษตรกร” ใกล้ซํ้ารอยวังวนจำนำข้าว หลังกระทรวงคลังส่งสัญญาณ “เงินเหือด” ไม่มีเงินจ่ายประกันรายได้ยางปี 4 เตือนนักการเมืองหาเสียงเกทับ ดันราคาสินค้าเกษตรสูงเว่อร์ หวั่นคนไทยแบกหนี้หัวโต “ทีดีอาร์ไอ”แนะทางออกลดเงินอุดหนุน

โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ได้ดำเนินมาเข้าสู่ปีที่ 4 ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลก่อนครบวาระการบริหารประเทศในเดือนพฤษภาคม 2566 สถานะล่าสุด ของสินค้าเกษตร 5 รายการในโครงการประกันรายได้ปีที่ 4 ในส่วนของข้าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเริ่มจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างแล้ว

 

ส่วนมันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ปาล์มนํ้ามัน อยู่ระหว่างรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ขณะที่ยางพารา รอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) แต่เบื้องต้นกระทรวงการคลังแจ้งว่ารัฐบาลมีงบให้โครงการประกันรายได้ยางฯ เพียง 5,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างหาทางออกว่าจะทำอย่างไร

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

 รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าหากทิศทางสถานการณ์เป็นอย่างนี้ และรัฐบาลไม่สามารถดำเนินนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรได้ครบทั้ง 5 รายการ คำว่า “ทำได้” จะหายไป และหากยังดำเนินไปในระยะยาว สุดท้ายก็จะ “ถังแตก” หรือมีงบสนับสนุนไม่เพียงพอเช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว

 

อัพเดทสถานะ "ประกันรายได้เกษตรกร" 5 พืช

 

เนื่องจากงบประมาณของรัฐไม่ได้ใช้กับเกษตรกรเพียงด้านเดียว แต่งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนยังต้องใช้ทางด้านอื่นที่จำเป็นด้วย โดยช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐก็กู้เงินเต็มเพดานและใช้จนเกือบหมดแล้ว ดังนั้นมองว่าสิ่งที่รัฐพยายามทำคือพยายามหาเงินทุกวิถีทางเพื่อปิดโครงการให้ได้ก่อนหมดวาระ

 

 

 “สิ่งที่เป็นจุดอ่อนในโครงการประกันรายได้ คือรัฐบาลไปตั้งราคาประกันไว้สูง แล้วอะไรที่เกษตรกรเคยได้แล้วไม่ได้ สุดท้ายก็จะถูกใช้เป็นเกมการเมืองที่จะถูกโจมตีจากอีกฝ่าย และต้องไปตามแก้ สัญญาณจากที่กระทรวงการคลังแจ้งว่ารัฐบาลมีเงินให้เพียง 5,000 ล้านบาทในโครงการประกันรายได้ยางพารา (คลิกอ่าน) นั้น ชี้ให้เห็นว่านโยบายนี้กำลังเข้าสู่ตาจนแล้ว”

 

 

การช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล รอบ 8 ปี

 

 

รศ.สมพร กล่าวอีกว่า จากที่รัฐบาลยังมีโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรในเวลานี้ หากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงในช่วงนี้ มีการเกทับนโยบายเรื่องจะทำให้ราคาสินค้าสินค้าเกษตรสูงขึ้นไปอีกเพื่อจูงใจให้เกษตรกรเลือกเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะจะเป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐบาลเพื่อการนี้ในภายภาคหน้าอีกมาก และจะเป็นการจับเกษตรกรแช่แข็ง จากประสิทธิภาพการผลิต และผลผลิตจะไม่พัฒนา

 

ดังนั้นนโยบายหาเสียงแบบนี้จะต้องพูดให้ชัดว่า แหล่งที่มาของเงินจะนำมาจากไหน และนักการเมืองต้องไปพิจารณาข้อเท็จจริงว่า นโยบายประชานิยมเหล่านี้ที่ผ่านมาทำให้ชีวิตของเกษตรกรไทยดีขึ้นหรือไม่ ความยากจนลดลงหรือไม่ แต่ในมุมมองส่วนตัวทั้งโครงการรับจำนำข้าวและประกันรายได้ ทำให้เกษตรกรมีการพัฒนาจากเดิมไม่มาก และกำลังเข้าสู่วังวนเดิม

 

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

 ด้าน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวผ่านการประชุมเวทีข้าวไทย 2565 “ก้าวต่อไป นโยบายข้าวไทย” จัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ว่า การอุดหนุนกำลังทำลายแรงจูงใจอย่างสิ้นเชิงในการปรับตัวของเกษตรกร ยกตัวอย่างผลการทดลองที่จังหวัดอุบลราชธานี และสุพรรณบุรี จากโครงการประกันรายได้ และมีเงินอุดหนุนทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิต

 

 

ขณะเดียวกันจากพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่แกนนำรัฐบาล มีการอุดหนุนเกษตรกรซํ้าซ้อนโดยโครงการหลักคือประกันรายได้ และอีกพรรคมีนโยบายตามที่หาเสียงไว้คือ การช่วยเหลือต้นทุนและปรับ ปรุงคุณภาพข้าว ทำให้ในปีการผลิต 2564/65 รัฐบาลต้องใช้เงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรสูงกว่า 1.8 แสนล้านบาท สูงกว่างบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับที่ 1.1 แสนล้านบาทในปีเดียวกัน

 

ผวาจุดจบประกันรายได้ วังวนซํ้า “จำนำข้าว” ปรามหาเสียงอย่าเว่อร์

 

“ข้อเสนอคือขอให้ตัดเงินอุดหนุนที่ซํ้าซ้อน เช่น ตัดงบเงินช่วยเหลือชาวนา 5.5 หมื่นล้านบาทออกมาแค่ปีเดียวก็จะตั้งกองทุน วิจัยและส่งเสริม เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดการเผา และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเกิดการพัฒนา ปรับตัว และช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และจะลดการพึ่งเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ใน 10 ปีข้างหน้าได้จำนวนมาก” รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,846 วันที่ 22-24 ธันวาคม พ.ศ. 2565