บางกอกแอร์เวย์ส กางแผนปี 66 มั่นใจดึงผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน

13 ธ.ค. 2565 | 09:43 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2565 | 16:43 น.

หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบส่งผลให้ธุรกิจของบางกอก แอร์เวย์ส ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดว่า และทิศทางของสาย การบินในปี2566 จะเป็นอย่างไร นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีคำตอบ

สถานการณ์ของบางกอกแอร์เวย์สในปีนี้ ถือว่าดีกว่าที่คิดไว้ในตอนแรกมาก โดยเฉพาะหลังจากไทยยกเลิก Thailand Pass และยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดในการเดินทางเข้าไทย ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ บางกอกแอร์เวย์ส มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาใช้บริการแล้วคิดเป็น 40% แล้วเมื่อเทียบกับปี 2562

 

โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมด 1.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 528% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีผู้โดยสารเพียง 270,000 คน มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,121.8 ล้านบาท มีอัตราส่วนขนส่งผู้ถือโดยสาร 74%

 

 

ถือว่าเติบโตดีกว่าเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ที่สายการบินตั้งเป้าไว้เมื่อช่วงต้นปี ที่เราตั้งเป้าว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีรายได้อยู่ที่ 8,175 ล้านบาท อัตราส่วนขนส่งผู้โดยสาร 73% ซึ่งแค่ 9 เดือนแรกของปีนี้ เราก็ได้เดินทางมาถึงเป้าหมายแล้ว จึงคาดว่าตลอดทั้งปีนี้เราน่าจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 2.64 ล้านคน มีรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท

 

บางกอกแอร์เวย์ส

 

โดยก่อนหน้านี้เส้นทางบินภายในประเทศจะโตเร็วกว่าเส้นทางบินระหว่างประเทศ เพราะคนเดินทางเที่ยวในประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดเดินทางไปต่างประเทศ แต่นับจากวันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นมา เส้นทางบินระหว่างประเทศกับเส้นทางบินในประเทศมีผู้โดยสารขยับมาใกล้เคียงกัน เพราะคนเดินทางออกไปต่างประเทศได้เยอะขึ้น

 

เส้นทางบินที่แข็งแรงของเราก็ยังเป็นสมุย คิดเป็นสัดส่วน 50% ของปริมาณเที่ยวบินทั้งหมด ตามมาด้วยเส้นทางบินภายในประเทศอื่นๆ และเส้นทางบินภายในภูมิภาค อย่าง กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม แต่ปัจจุบันเมื่อเดินทางออกประเทศได้ สถานการณ์ก็จะทยอยกลับเข้าสู่สภาวะเดิม โดยเรา มีผู้โดยสารต่างชาติ 60% คนไทย 40% จากก่อนโควิดที่เรามีผู้โดยสารต่างชาติ 80% และผู้โดยสารคนไทย 20%

ล่าสุดบางกอกแอร์เวย์ส ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เรากลับมาเปิดเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมแล้ว 24 เส้นทางบิน เป็นเส้นทางบินในประเทศ 17 เส้นทางบินและเส้นทางบินระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง รวม 19,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเพียง 4,800 เที่ยวบิน สามารถใช้เครื่องบินเพื่อทำการบินได้ที่ 23 ลำ จากเครื่องบิน ณ สิ้นปีนี้ ที่อยู่ที่ 28-31 ลำ

 

ถือว่าค่อยๆ กลับมา แม้จำนวนเที่ยวบินจะไม่เท่าเดิม ซึ่งก่อนโควิดที่บินอยู่ 34 เส้นทาง เป็นเส้นทางบินในประเทศ 17 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 17 เส้นทาง รวมถึงการเจรจากับสายการบินต่างๆ ของต่างประเทศเพื่อกลับมาทำโค้ดแชร์ไฟล์ตร่วมกัน ในการรองรับการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการสายการบิน

 

สำหรับสถานการณ์ในปี 2566 ก็คาดว่าสายการบินจะมีผู้โดยสารกลับมาได้อีก 75-80% ของปี 2562 ซึ่งคาดว่าในปีหน้าสายการบินจะมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 4.4-4.5 ล้านคน จากก่อนโควิดที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 6 ล้านคนต่อปี

 

บางกอกแอร์เวย์ส

 

ทั้งนี้จะเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารในเที่ยวบินระหว่างประเทศมากขึ้น โดยในปีหน้าบางกอกแอร์เวย์ส วางแผนจะกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางบินระหว่างประเทศอีก 6 เส้นทาง ได้แก่ สมุย-ฮ่องกง, สมุย-กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย), สมุย-เฉินตู (จีน), สมุย-ฉงชิ่ง (จีน) และกลุ่มประเทศ CLMV ในเส้นทางกรุงเทพฯ-มัณฑะเลย์ (เมียนมา) และกรุงเทพฯ-ฟูโกว๊ก (เวียดนาม)

 

การกลับมาเปิดบินในเส้นทางเหล่านี้จะเป็นช่วงไหนต้องพิจารณาข้อจำกัดมาตรการเดินทางของประเทศนั้นๆ ด้วย เช่น จีน มีนโยบายเปิดประเทศเมื่อไหร่ หรืออย่างฮ่องกง จะมีลดข้อจำกัดที่ระบุว่าในช่วง 3 วันแรกที่เข้าฮ่องกง ห้ามไปนั่งทานข้าวที่ร้านอาหารเมื่อไหร่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังต้องมองถึงสถานการณ์ในปีหน้าด้วย ซึ่งมีปัจจัยเรื่องของผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย สงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อ ที่สำคัญ คือ ราคานํ้ามัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของสายการบินที่เพิ่มขึ้น เพราะเรามีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เราก็ต้องดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ธุรกิจสายการบินที่เริ่มฟื้นตัว ในส่วนของธุรกิจร่วมทุนที่บางกอกแอร์เวย์ส ได้ร่วมทุนดำเนินธุรกิจในสนามบิน อาทิ การบริการภาคพื้น การบริการอาหาร ก็เริ่มดีขึ้นเนื่องจากมีสายการบินทยอยกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น และในขณะนี้ทางบริษัทร่วมทุนอย่าง BFS ก็อยู่ระหว่างเปิดรับพนักงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาพนักงานออกไปช่วงโควิดจำนวนหนึ่ง

 

ในส่วนของการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่เป็นการร่วมทุนในนาม บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การพัฒนาสนามบินจะล่าช้าออกไปอีก 1 ปี โดย UTA อยู่ระหว่างการหารือกับอีอีซี เพื่อเจรจาปรับแผนลงทุนจากเดิม 4 เฟส ขยายออกไปเป็น 6 เฟส หลังประเมินผู้โดยสารมีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าที่คาด โดยเราขอปรับลดขนาดลงทุนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ในเฟสแรก ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า จากเดิมรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 15 ล้านคน เหลือการรองรับผู้โดยสาร 10-15 ล้านคน ไม่ถึง 15 ล้านคน พร้อมเตรียมแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนใน UTA จาก 4.5 พันล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 9 พันล้านบาทก่อนเปิดสนามบินปี 69

 

อย่างไรก็ตามแม้ UTA จะขอขยายการพัฒนาจากเดิม 4 เฟส ออกไปเป็น 6 เฟส แต่หากผู้โดยสารกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามสัญญาที่ระบุว่าหากมีผู้โดยสารใช้บริการเกินกว่า 80% ของอาคารผู้โดยสารในเฟสแรกที่สร้างขึ้น UTA ก็จะเริ่มดำเนินการในเฟสต่อไปทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผู้โดยสารแออัด โดยตามสัญญาสัมปทานในช่วง 50 ปี จะพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับผู้โดยสารตามสัญญาที่กำหนดไว้คือ 60 ล้านคนต่อปี

 

นอกจากนี้บางกอกแอร์ส ยังมีแผนจะลงทุนเพิ่มเติมในพัฒนาสนามบินตราด ซึ่งเป็นสนามบินของเราเอง โดยจะขยายขนาดของทางวิ่งให้ยาวขึ้น ให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่กว่าเดิม การย้ายอาคารผู้โดยสารภายในสนามบิน เป็นต้น

 

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในปีหน้าที่จะเกิดขึ้น