บางกอกแอร์เวย์ส เปิด 6 เส้นทางบินต่างประเทศ รับท่องเที่ยวฟื้นเร็ว

29 พ.ย. 2565 | 10:56 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2565 | 17:57 น.
593

บางกอกแอร์เวย์ส กางแผนปี 2566 เพิ่ม 6 เส้นทางบินระหว่างประเทศ หลังดีมานด์การเดินทางฟื้นตัวเร็ว คาดผู้โดยสารสิ้นปี 2565 ทะลุกว่า 2.5 ล้านคน

วันนี้( 29 พฤศจิกายน 2565) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ตอบรับอุปสงค์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เตรียมแผนการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ จำนวน 6 เส้นทางในปี 2566 

 

อาทิ สมุย – ฮ่องกง,  สมุย – กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย),สมุย – เฉินตู , สมุย-ฉงชิ่ง  กรุงเทพฯ – มัณฑะเลย์ (เมียนมา) และกรุงเทพฯ – ฟูโกว๊ก (เวียดนาม) คาดสิ้นปี 2565 ยอดรวมขนส่งผู้โดยสารกว่า 2.5 ล้านคน   


นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้ภาคอุตสาหกรรมการบินทุกภูมิภาคทั่วโลกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger Kilometers: RPK) ของทุกภูมิภาคทั่วโลก เฉลี่ย 73.9 % 

 

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ


แม้จะต้องเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก ภาวะสงครามรัสเซีย - ยูเครน ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย จากการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่าสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีอัตราเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณร้อยละ 26.0 ซึ่งค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับทางภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา 

เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศที่ล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว และเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 พร้อมคาดว่าหลาย ๆ สายการบินทั่วโลกจะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2567

 

บางกอกแอร์เวย์ส

 

ทั้งนี้ในส่วนของจำนวนผู้โดยสารของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา หลังมาตรการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ 

 

โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวม 1.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 528  เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนผู้โดยสาร 9 เดือนแรกปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 นับเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด    


สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 8,121. 8 ล้านบาท อัตราส่วนขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) 74 % โดยก่อนหน้าบริษัทฯ ได้ตั้งเป้ารายได้รวมสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 8,175 ล้านบาท อัตราส่วนขนส่งผู้โดยสาร 73 % ซึ่ง 9 เดือนแรก เราก็ได้เดินทางมาถึงเป้าแล้ว
 

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มาจากเส้นทางบินในประเทศ โดยมีเป้าหมายผู้โดยสารที่เป็นสัดส่วนของกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวยุโรป และตะวันออกกลางเป็นหลัก 

 

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นที่จะผลักดันการบินในเส้นทางหลักอย่าง สมุย ภูเก็ต และ เชียงใหม่ โดยมุ่งหมายที่จะเชื่อมโยงศักยภาพการบินเข้าด้วยกันกับประเทศในกลุ่ม CLMV และกลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยม และเป็นเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว เพื่อตอบโจทย์อุปสงค์การท่องเที่ยวได้อย่างครอบคลุม 

 

ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ เปิดเส้นทางบินใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ-หาดใหญ่ สมุย- หาดใหญ่ และกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพ - เสียมเรียบ (กัมพูชา), กรุงเทพ - ย่างกุ้ง (เมียนมา) และ กรุงเทพ - ดานัง (เวียดนาม)


นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  จากแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ได้ตั้งเป้าในปี 2566 ให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินกลับเข้าไทย 80% ของปี 2562

 

บริษัทฯ มองว่าเป็นโอกาสอันดีของทุกภาคส่วน ที่ภาครัฐเดินหน้า ฟื้นฟูและผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยกลับมา โดยคาดว่าบางกอกแอร์เวย์ส จะสามารถรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มที่ โดยมีแผนในการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินยอดนิยม การกลับมาให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ในอนาคต 

 

ในปัจจุบันบริษัทฯ ได้ให้บริการในเส้นทางบินกว่า 24 เส้นทาง แบ่งเป็นภายในประเทศ 17 เส้นทาง และระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง โดยคาดว่าในปี 2566  จะกลับมาให้บริการเที่ยวบินในเพิ่มเติมในเส้นทางระหว่างประเทศจำนวน 6 เส้นทางได้แก่

 

  • สมุย – ฮ่องกง,  สมุย – กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย)

 

  •  สมุย – เฉินตู (จีน) 

 

  • สมุย-ฉงชิ่ง(จีน) 

กลุ่มประเทศ CLMV

 

  • เส้นทาง กรุงเทพฯ – มัณฑะเลย์ (เมียนมา) 

 

  • กรุงเทพฯ – ฟูโกว๊ก (เวียดนาม) 

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดเส้นทางบินและการกลับมาให้บริการในเส้นทางบินต่าง ๆ นั้น บริษัทได้วางกลยุทธ์ และแผนรองรับความเสี่ยงต่างๆ ไว้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเงินเฟ้อ สภาวะความกังวลจากเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก และสถานการณ์ด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่ผันผวน นายพุฒิพงศ์ กล่าวสรุป