“ศุภลักษณ์ อัมพุช” จับมือ 2 เจ้าสัว ปั้นย่านบางกะปิสู่ ‘มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์’

23 พ.ย. 2565 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 18:22 น.
4.1 k

“ศุภลักษณ์ อัมพุช” ซินเนอร์ยี 2 ตระกูลยักษ์ “สิริวัฒนภักดี-เจียรวนนท์” ปั้นย่านบางกะปิสู่ “มัลติ มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์” พร้อมทุ่มงบกว่า 4 หมื่นล้านพลิกโฉม “บางกะปิ-บางแค-ดิ เอ็มดิสทริค-พารากอนฯ” มั่นใจปี 66 เศรษฐกิจไทยขาขึ้น

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ด้วยวิชันของเดอะ มอลล์ กรุ๊ปที่ต้องการสร้างย่านธุรกิจให้เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากดิ เอ็มดิสทริค ล่าสุดบริษัทมีแผนเดินหน้าสร้างย่านธุรกิจใหม่อีก 2 ย่าน 2 มุมเมืองเพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคฝั่งกรุงเทพฯตะวันออกและตะวันตก คือย่านบางกะปิและย่านบางแค

 

ดังนั้นในปี 2566 บริษัทจะใช้งบลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาทในการลงทุน 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ การรีโนเวทเดอะ มอลล์ บางกะปิและเดอะ มอลล์ บางแค ด้วยงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท แล้วเสร็จในปลายปี 2566, การลงทุนในย่านดิ เอ็มดิสทริค ทั้งการรีโนเวทดิ เอ็มควอเทียร์และการก่อสร้างดิ เอ็มสเฟียร์ด้วยงบลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2566 และใช้งบลงทุนอีก 4,000-5,000 ล้านบาท ในการรีโนเวท “พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” แล้วเสร็จปี 2567

เดอะ มอลล์ กรุ๊ป            

“ด้วยวิชันที่เราต้องการสร้างย่านบางกะปิให้เป็นย่านธุรกิจสำคัญ หลังจากที่เดอะ มอลล์ บางกะปิ ซึ่งมีที่ดินอยู่ราว 50 ไร่เศษ ต่อสัญญาเช่าที่ดินออกไปอีก 30 ปี รวมทั้งการสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมหลักของกทม. อย่างเช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง, สีน้ำตาลและสีส้ม คืบหน้าใกล้แล้วเสร็จ ทำให้บริษัทพร้อมเดินหน้ารีโนเวทเดอะ มอลล์ บางกะปิดครั้งใหญ่สู่ “เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ” พร้อมกับการมองหาพันธมิตรในย่านนี้มาร่วมมือกัน ผนึกกำลังกัน สร้างให้ย่านนี้มีความแข็งแรง เชื่อมต่อถึงกันหมด

           

โดยเดอะ มอลล์ได้พูดคุยกับตระกูลเจียรวนนท์ หรือเครือซีพี ซึ่งมีแม็คโครบนที่ดินราว 30 ไร่ และยังมีโลตัส (ฝั่งตรงข้าม) รวมถึงได้คุยกับคุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

 

ซึ่งมีทั้งโครงการตะวันนา บนที่ดิน 24 ไร่ ติดกับเดอะ มอลล์ บางกะปิและยังมีที่ดินด้านข้างที่รอการพัฒนาเป็นเรสซิเดนท์เชียล ส่วนฝั่งตรงข้ามก็มีศูนย์การค้าพันธ์ทิพย์ บางกะปิ และโรงแรม เดอะพันธุ์ทิพย์โฮเทล ลาดพร้าว แบงค็อก ในการร่วมกันพัฒนาโครงการให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน จะทำให้ที่นี่กลายเป็น “มัลติ มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์” ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ”

เดอะ มอลล์ บางกะปิ            

นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า เพราะทั้งเดอะมอลล์ บางกะปิและเดอะมอลล์ บางแคเป็นแฟล็กชิปสโตร์ของกลุ่มเดอะ มอลล์ และเป็นโปรเจ็กต์สร้างชื่อให้คนไทยรู้จัก “เดอะมอลล์” และ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 30 ปีเต็ม การลุกขึ้นมาปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่นี้ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและทำเลทั้งในย่านบางกะปิและบางแค ที่มีการเติบโตดีที่สุด

 

โดยทั้ง 2 โครงการจะถูกพัฒนาเป็น ศูนย์การค้าครบวงจร MEGA ALL-IN-ONE RETAIL& ENTERTAINMENT PROJECT เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าซึ่งในรัศมี 10 กิโลเมตรของ “เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ” มีประชากรกว่า 2 ล้านคน และมีประชากรดิจิตอลสูงถึง 5 ล้านคน

ศุภลักษณ์ อัมพุช

นอกจากนี้ยังมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่พัก คอนโดมิเนียม มากกว่า 1.2 ล้านยูนิต ส่วน “เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค” มีประชากรกว่า 1.5 ล้านคน และมีประชากรดิจิตอล 3.5 ล้านคน มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่พัก คอนโดมิเนียม มากกว่า 7 แสนยูนิต ถือเป็นหนึ่งในทำเลศักยภาพที่ดีที่สุดของฝั่งธนฯ โดยคาดว่าหากโครงการทั้ง 2 แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มทราฟฟิคให้กับศูนย์การค้ามากกว่า 30%

 

"เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิและเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค ถือเป็น Key Strategic Location สำคัญของกรุงเทพฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ด้วยประชากรที่หนาแน่น จึงจำเป็นต้องมี Key Anchor และ Key Magnet ที่สามารถดึงดูดนักช้อปได้ทุกเจนเนอเรชั่น การพลิกโฉมใหม่ครั้งจะเห็นร้านค้าใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนมาเปิดให้บริการ สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ ถูกใจทุกกลุ่มลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเจนเอ็กซ์ เจนวาย รวมถึงกลุ่มอัลฟ่าด้วย”

           

สำหรับ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ จะมุ่งเน้นสินค้าและบริการที่ครบครันทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น Fashion, Beauty, Gold & Jewelry, Lifestyle, Heath & Wellness, Digital & Technology , Financial Hub , Gourmet Market Food & Dining, Edutainment & Entertainment และ Attractions

เดอะ มอลล์ บางแค

นอกจากนี้ยังมี Harborland ในรูปแบบใหม่ Harbor World ด้วยคอนเซปท์ใหม่ที่แตกต่างจากสาขาอื่นๆ, โรงภาพยนตร์ SF ที่ได้ยกระดับโรงภาพยนตร์เป็น SFX World-class และ Fitness First ที่ออกแบบตกแต่งดีไซน์ใหม่ และเตรียมเครื่องเล่นที่ทันสมัยไว้รองรับลูกค้ามากมาย โดยทั้งเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิและเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค จะเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2566

           

อย่างไรก็ดี คีย์ซัคเซสของเดอะ มอลล์ กรุ๊ปในกว่า 40 ปีที่ผ่านมา คือ 1. Key Strategic Location : ทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร 2. Key Project Composition : องค์ประกอบที่ยิ่งใหญ่ ครบวงจร เพียบพร้อม และสมบูรณ์แบบ 3. Efficient & Impact Marketing Strategies : กลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพ

 

4. Extensive Experiences & High Capability : ทีมงานที่มีความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ และ 5. Togetherness & Strong Commitment : ความมุ่งมั่น ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน

 

นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนการลงทุนระยะยาว 3-4 ปีข้างหน้า คือ การก่อสร้างโครงการ “แบงค็อก มอลล์” (Bangkok Mall) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกบางนา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างฐานราก คิดเป็นสัดส่วนราว 20-30% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568-2569 นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างโครงการใหม่ “เดอะ มอลล์ รามคำแหง” ซึ่งเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนราว 7,000-8,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

           

“หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายโครงการดีเลย์ไป แต่สถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้น recover 100% เทียบเท่ากับปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะห้างในเมืองที่มียอดขายดีมาก อย่างไรก็ดีเชื่อว่าในปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้ดีมาก ไม่มีปัญหาที่ต้องกังวล ยกเว้นเรื่อง การเมือง”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,838 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565