ดร.ณรงค์ชัย ชี้ นโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด และรัฐบาลแตกแยก นำสู่วิกฤติ

23 พ.ย. 2565 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 13:17 น.

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ถอดบทเรียน วิกฤติต้มยำกุ้ง เหตุจาก นโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด และรัฐบาลแตกแยก แนะทางรอด ตอนขึ้นสูงอย่าสร้างศัตรู หมั่นประเมิณ NAV อยู่เสมอ

 ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนา “ถอดบทเรียน ก้าวผ่านวิกฤติใหญ่”  ในหลักสูตร Wealth of Wisdom ว่า วิกฤติ คือสถานการณ์ที่ขึ้นสูง แล้วตกลงมา สำคัญที่วิธีที่ทำให้ได้ขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ว่าขึ้นไปอย่างไร หากขึ้นไปโดยไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เมื่อตกลงมาจะมีทางลง และสามารถกลับขึ้นไปใหม่ได้ ในวันที่หนี้เพิ่มขึ้นมา จากค่าเงินนั้น แท้จริงแล้วมีสัญญานมาก่อนหน้า จากการที่ไฟแนนซ์มีกำไรทะลุฟ้า ประเทศไทยเริ่มต้นการเปิด capital flow ตั้งแต่ยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เรื่อยมา และตนได้เป็นกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชุดแรก 
 

ดร.ณรงชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


จนมาถึงยุครัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตนได้รับเชิญให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มมีการเปิดเสรีตลาดทุน และได้เห็นสัญญานของวิกฤติเรื่อยมา  เนื่องจาก การเปิด capital flow แต่ไม่เปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ทำให้มีคนนำเงินต่างประเทศ เข้ามาในประเทศมาก เพราะดอกเบี้ยของประเทศไทย สูงกว่าต่างประเทศ

 

ขณะนั้น รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ต้องการให้ลอยตัวค่าเงินบาทตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติ แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจาก เป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลมีอำนาจเพียงการให้คำแนะนำเท่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้เคาะค่าเงิน และกำหนดเวลาเอง สุดท้ายก็เกิดวิกฤติขึ้น ครั้งนั้นได้ขอ IMF มา 17,200 ล้านดอลลาร์ พร้อมเงื่อนไข  ซึ่งตอนนั้นธนาคารไทย 15 ธนาคาร ได้แปลงสภาพไปครึ่งหนึ่ง

 

บทเรียนจากเหตุการณ์วิกฤตินี้คือ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผิดพลาด และ
ปัญหาการเมือง ทั้งการที่รัฐบาล ไม่มีอำนาจในการแก้ปัญหา และความแตกแยกกันเองของรัฐบาล แบ่งฝักฝ่าย ทั้ง 2 ส่วนนี้ จะนำมาซึ่งวิกฤติ

 

ซึ่งการตั้งรับ และปรับตัวเมื่อเผชิญวิกฤติ ที่ถือเป็น concept ชีวิต คือ การประเมิณสินทรัพย์ที่เรามี  Net Asset Value (NAV) อยู่ตลอดเวลา โดยเชื่อมั่นว่า อสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ไม่เป็นศูนย์ และเวลาที่ได้ขึ้นสูง อย่าสร้างศัตรูอย่าทำให้คนโกรธ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ จังหวะ ปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวะ เป็นส่วนสำคัญ เพราะต่อให้เก่งอย่างไร หากจังหวะไม่ดี ก็ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ จุดเปลี่ยนของตนจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ทั้งตกงาน และหุ้นเหลือศูนย์ นั้นก็คือ การที่สามารถขายที่ดินที่มีอยู่ได้ราคาสูง จากจังหวะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

 

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวทิ้งท้าย ถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือเงินติดลบของรัฐบาล ที่มาจากการช่วยคน เรายังออกธนบัตรได้ และอย่าคาดหวังว่าการเมืองจะมาช่วยอะไรเรา หลังเอเปกนายกฯ จะอยู่จนครบบเทอม และไม่ทำอะไรมาก ซึ่งรัฐบาลใหม่ยังเป็นคสช. ซึ่งไม่ใช่ 2 คนที่สื่อวิเคราะห์แน่นอน จงอย่าหวังเรียกร้องการเมือง ควรพึ่งตัวเอง”