ผนึกอบจ.3จังหวัดอันดามันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปั้น"AWC"

21 พ.ย. 2565 | 16:43 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2565 | 23:54 น.

พันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ระดมสมอง เคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน(AWC)  รองรับการทำแผนงบประมาณโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน วงเงินกว่า 5,000 ล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดึง3อบจ.อันดามันร่วมสร้างเมือง สู่จุดหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้บริหารศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) พร้อมด้วยนายก้าน ประชุมพรรณ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยวทางน้ำ วุฒิสภา ร่วมกันหารือ การขับเคลื่อนเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Economic Corridor: AWC) สู่การพัฒนาอันดามันอย่างยิ่งยืน 

 

รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นกลไกด้านการพัฒนาความร่วมมือทางสังคม ของการลงทุนเศรษฐกิจสุขภาพ (Urban Collaboration and Institution Arrangement) ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน โดยมีสถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,116 ล้านบาท 

ผนึกอบจ.3จังหวัดอันดามันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปั้น\"AWC\"

ผนึกอบจ.3จังหวัดอันดามันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปั้น\"AWC\"

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2565 นี้ จะเป็นช่วงของการวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว เพื่อเป็นสถานที่ทำการวิจัย พัฒนาวิชาการด้านสาธารณสุข เป็นสถานพยาบาลขั้นตติยภูมิ (Tertiary Care) และเฉพาะทางเป็นหลัก โดยสามารถรักษาโรคระดับต้นและโรคซับซ้อน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทยต่อไป

 

ขณะที่ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ  ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนและทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  ระบุว่า กลยุทธ์การกระจายศูนย์กลางความเจริญ มุ่งไปที่การตรึงเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างงานบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและย่านอันดามัน ด้วยศักยภาพของภาคีเครือข่ายการพัฒนาเมือง ที่มีศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นกลไกด้านการพัฒนาความร่วมมือ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่

ผนึกอบจ.3จังหวัดอันดามันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปั้น\"AWC\"

ส่วนนายก้าน ประชุมพรรณ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวทางน้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า การขับเคลื่อนเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน(AWC)  ที่มีศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามันฯ เป็นกลไกในการประสานความร่วมมือแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factor) ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สู่การเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน นั่นคือยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเมือง(Infrastructure) 

 

โดยมีหัวใจหลักคือ การทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based Approach) ร่วมกัน ในเขตสามเหลี่ยมระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน(AWC) ระหว่าง อบจ.ภูเก็ต อบจ.กระบี่ และอบจ.พังงา ที่จะมีการหารือร่วมกันในระยะต่อไป

ผนึกอบจ.3จังหวัดอันดามันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปั้น\"AWC\"

ขณะที่นายแพทย์บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเมือง (Infrastructure) เพื่อจะขับเคลื่อนพื้นที่สามเหลี่ยมระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน(AWC)  ระหว่าง อบจ.ภูเก็ต อบจ.กระบี่ และอบจ.พังงา สามารถผลักดันแผนการดำเนินเข้าสู่แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หรือการขับเคลื่อนผ่านสาธารณสุขจังหวัด ที่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นกลไกในการเชื่อมงานเชิงพื้นที่ได้ 

 

นอกเหนือจากการผลักดันให้เกิด Andaman Wellness Economic Corridor: AWC  ของนายก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานบริหาร บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด แล้ว นายกฤษฎาพงษ์ ตันทอง ผู้ก่อตั้ง และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล บริษัท ดีพ เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังร่วมเสริมทัพ โดยตกลงความร่วมมือ ในการวางโครงสร้างบริหารจัดการข้อมูลระดับภูมิภาค โดยมีพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน หรือ AWC Data Platform เป็นเรือธงในการพัฒนาแพลตฟอร์ม และการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน 

ผนึกอบจ.3จังหวัดอันดามันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปั้น\"AWC\"

โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นที่ปรึกษา และให้การสนับสนุนโครงการ เพื่อให้โครงการด้านต่าง ๆ ได้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายสูงสุด และเป็นประโยชน์ เข้าถึงทุกองค์กรและประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง สร้างความสำเร็จให้กับเขตเศรษฐกิจโดยเฉพาะสามเหลี่ยมระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน(AWC)ต่อไป