ซีพี ออลล์ โชว์รายได้ไตรมาส 3 ทะลุ 2.13 แสนล้าน

17 พ.ย. 2565 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 01:11 น.

ซีพี ออลล์ กวาดรายได้ไตรมาส 3/2565 ทะลุ 2.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% กำไร 3,677 ล้านบาท ส่งผล 9 เดือนมีรายได้รวม 6.27 แสนล้านบาท

นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ Chief Financial Officer บริษัท ซีพี ออลล์  จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบมจ. ซีพี ออลล์ ไตรมาส 3 ปี 2565 มีรายได้รวม 213,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 64% มีกำไรสุทธิ 3,677 ล้านบาท

 

โดยมีสาเหตุมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ รวมถึงธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ธุรกิจแม็คโครนั้นมีการเติบโตของรายได้จากการขายและบริการดีขึ้น ประกอบกับมีการรับรู้รายได้ของธุรกิจโลตัส เข้ามา

 

นอกจากนี้กลยุทธ์ 020 ของแต่ละหน่วยธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเติบโตของรายได้นั้นยังคงได้รับ ปัจจัยบวกอย่างต่อเนื่องจากการเปิดประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศ ปรับตัวดีขึ้น

เกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ

บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการเท่ากับ 45,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายและบริการของทุกกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้รายได้จากโลตัสเข้ามาด้วยเช่นกัน สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นในงบการเงินรวม คิดเป็น 21.8% เพิ่มขึ้นจาก 21% จากไตรมาส เดียวกันของปีก่อน สืบเนื่องจากการบริหารต้นทุนขายสินค้าและต้นทุนการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 

ในไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทตามรายละเอียด ดังนี้

 

  • ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน 31.8%
  • ค่าบริหารงานร้านสะดวกซื้อ 13.0%
  • ค่าเช่า และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย  20.7%
  • ค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย 10.0%
  • ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ 24.5%

ซีพี ออลล์ โชว์รายได้ไตรมาส 3 ทะลุ 2.13 แสนล้าน

บริษัทมีต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารเท่ากับ 41,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ค่าใช้จ่ายกลุ่มต้นทุนในการจัดจำหน่ายมีจำนวน 34,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54%  ในขณะที่กลุ่มค่าใช้จ่าย ในการบริหารมีจำนวน 7,343 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

การเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการจัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการบริหารนั้นสืบเนื่องมาจากการรวมธุรกิจโลตัสเข้ามาตั้งแต่ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา โดยประเภทค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลักๆประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพนักงาน ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ค่าสาธารณูปโภคและอื่นๆ

ซีพี ออลล์ โชว์รายได้ไตรมาส 3 ทะลุ 2.13 แสนล้าน

สำหรับผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 627,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 10,134 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรต่อหุ้นตามงบการเงินรวม มีจำนวน 1.05 บาท จากผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นทุกหน่วยธุรกิจตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการรวมธุรกิจโลตัสส์ สัดส่วนรายได้รวมและกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ก่อนหักรายการระหว่างกันตามธุรกิจหลัก

                                                                 รายได้               กำไร

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ               48%                65%

ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค         52%                35%

 

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปิดร้านสาขาใหม่รวมทั้งสิ้น 227 สาขา ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีจำนวนร้านสาขาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 13,660 สาขา แบ่งเป็น

 

1. ร้านสาขาบริษัท 6,738 สาขา คิดเป็น 49%  (ไตรมาส 3 เปิดร้านใหม่ 208 สาขา)

2. ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,922 สาขา คิดเป็น  51% (ไตรมาส 3 เปิดร้านใหม่ 19 สาขา)

 

ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งคิดเป็น 86% ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

ซีพี ออลล์ โชว์รายได้ไตรมาส 3 ทะลุ 2.13 แสนล้าน

ในไตรมาส 3 ปี 2565 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 90,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสนี้มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน เท่ากับ 76,612 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 22.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 82 บาท ในขณะที่จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 928 คน ทั้งนี้ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

สาเหตุมาจากการยกเลิกมาตรการต่างๆที่ควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ประกอบกับรายได้จากการขายสินค้าส่วนเพิ่มผ่านกลยุทธ์ O20 อาทิ 7-Eleven Delivery, AlL Online และ 24Shopping ซึ่งยังคงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภาวะปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยมีสัดส่วนสูงกว่า 10% ของรายได้จากการขายสินค้ารวม

ซีพี ออลล์ โชว์รายได้ไตรมาส 3 ทะลุ 2.13 แสนล้าน

ในไตรมาส 3 ปี 2565 สัดส่วนของรายได้จากการขาย 74.1% มาจากสินค้ากลุ่มอาหาร และ 25.9% มาจากสินค้าอุปโภค ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากการขายสินค้ากลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น จากการเติบโตของยอดขายในทุกกลุ่มสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าไตรมาส 3 ปี 2565 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีกำไรขั้นต้นจำนวน 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

 

โดยมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นเท่ากับ 27.6%  เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2564 ที่อัตราส่วน 27.4% สาเหตุหลักมาจากการปรับกลยุทธ์ด้านสินค้าโดยยังคงเน้นเรื่องความต้องการและพฤติกรรมในการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าเป็นหลัก รวมถึงให้ความสำคัญต่อการบริหารอัตรากำไรขั้นต้นของสินค้า เพื่อให้สามารถดึงดูดลูกค้า และสามารถสร้างยอดขายและกำไรส่วนเพิ่มต่อธุรกิจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

 

นอกจากนี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังมีรายได้อื่นอีกจำนวน 5,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนในขณะที่มีการบันทึกเงินปันผลรับจากบริษัทย่อยจำนวน 1,112 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 947 ล้านบาท เนื่องจากเงินปันผลจาก MAKRO ลดลงในตรมาส 3 ปี 2565

ซีพี ออลล์ โชว์รายได้ไตรมาส 3 ทะลุ 2.13 แสนล้าน

ต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารมีจำนวน 26,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตของรายได้รวม โดยบริษัทยังคงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และให้มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ในไตรมาส 3 ปี 2565 กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีกำไรจากกิจกรรมดำเนินงานเท่ากับ 5,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 3,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

 

อนึ่งในปี 2565 ซีพี ออลล์ใช้งบลงทุน 11,500 - 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 - 4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 - 2,500 ล้านบาท โครงการใหม่, บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000 - 4,100 ล้านบาท สินทรัพย์ถาวรและระบบสารสนเทศ 1,300 - 1,400 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาใหม่ราว 700 สาขา