ดันข้าวไทยแหล่งผลิตแปรรูป-ส่งออก สร้างความมั่นคงทางอาหารคุณภาพโลก

16 พ.ย. 2565 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2565 | 23:21 น.

ดันข้าวไทยเป็นแหล่งผลิตแปรรูป-ส่งออก สร้างความมั่นคงทางอาหารคุณภาพโลก  พาณิชย์ย้ำ!ไทยส่งเสริมการค้าข้าวเสรีทั้งตลาดในและต่างประเทศ

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษการประชุมข้าวโลก ครั้งที่ 14 (14th World Rice Conference) ว่า การจัดงานดังกล่าวเคยจัดครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต ปี 2010 และครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ปี 2016 และครั้งนี้ปี 2022 เป็นครั้งที่สาม สำหรับสถานการณ์ข้าว ถือเป็นธัญพืชที่เพาะปลูกมากเป็นลำดับ 3 ของโลก รองจากข้าวโพด และข้าวสาลี ภูมิภาคที่บริโภคข้าวมากที่สุดในโลกคือทวีปเอเชีย มากกว่า 90% ของผลผลิตทั้งโลก ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่าปีนี้ 2022  ความต้องการข้าวโลกจะมากขึ้นประมาณ 3.5% เทียบจากปีที่แล้วที่ 517 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 10 ปี

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เพราะปัญหาความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจโลกและความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศ ส่งผลให้หลายประเทศที่เป็นผู้นำเข้าข้าวหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้น เช่น อินโดนีเซียเซเนกัล ออสเตรเลีย ทั้งที่เป็นผู้นำข้าวมาก่อน ทำให้เกิดการแข่งขันด้านการตลาดข้าวรุนแรงตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทย ปีนี้ถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก โดยเป็นอันดับ 4 ประเทศที่ผลิตมากที่สุดในโลกคือ จีน 147 ล้านตัน อินเดีย 124 ล้านตัน เวียดนาม 27 ล้านตันและไทยผลิตได้ 20 ล้านตัน สำหรับการส่งออก 9 เดือนแรกของปีนี้ ม.ค.-ก.ย.ประเทศไทยส่งออกข้าวแล้ว 2,796 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.5% ปีที่แล้วส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน ปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ถึง 7.5 ล้านตันโดยประมาณ

ดันข้าวไทยแหล่งผลิตแปรรูป-ส่งออก  สร้างความมั่นคงทางอาหารคุณภาพโลก

  ด้านคุณภาพในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ขอยืนยันว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกชนิดหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง ดูจากผลการประกวดข้าวโลกของนิตยสาร The Rice Trader ซึ่งจัดมา 13 ครั้งประเทศไทยได้แชมป์ข้าวโลกถึง 7 ครั้ง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของการจัดประกวด คือเครื่องการันตีว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

สำหรับนโยบายของรัฐบาลไทย 1. ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ข้าวไทย ว่า 5 ปีตั้งแต่ปี 2020-2024 มีเป้าหมายสำคัญทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตด้าน การตลาดและด้านผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพของโลกใช้ยุทธศาสตร์”ตลาดนำการผลิต” เพื่อสนองความต้องการของตลาดโลก กำหนดเป้าหมายแต่ละด้านชัดเจน เช่น ภายใน 5 ปี จะเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ วันนี้ปี 2022 มีข้าวพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการรับรองแล้ว 6 พันธุ์ และคาดว่าไม่เกินปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 6 พันธุ์ รวมเป็น 12 พันธุ์ใหม่สนองความต้องการของตลาดโลกต่อไป

ดันข้าวไทยแหล่งผลิตแปรรูป-ส่งออก  สร้างความมั่นคงทางอาหารคุณภาพโลก

 ข้าวพันธุ์ใหม่ประกอบด้วยข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์รวมทั้งข้าวคุณสมบัติพิเศษ เช่น ข้าวสี ข้าวเพื่อการบริโภค ข้าว Functional Food อีก 2 พันธุ์ วันนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกับกระทรวงพาณิชย์นำมาแสดงและให้ทุกท่านได้ชิม 2.นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ดำเนินการมา 3 ปีเต็ม และปีนี้เป็นปีที่ 4 ปลายอายุของรัฐบาลนี้ จะหมดวาระประมาณเดือนมีนาคมปีหน้า  เมื่อวานคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเดินหน้าต่อนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวใช้เงิน 81,200 ล้านบาท ให้ชาวนาในประเทศไทยมีรายได้เพียงพอกับการยังชีพ ถ้าราคาตกต่ำกว่ารายได้ที่ประกันจะมีเงินส่วนต่างช่วยชดเชยให้สามารถเลี้ยงชีพได้ ไม่เลิกอาชีพปลูกข้าวเพื่อทำให้ประเทศไทยมีข้าวบริโภคและเป็นส่วนหนึ่งด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกดำรงอยู่ต่อไปได้ ด้วยฝีมือชาวนาไทยที่มีส่วนสำคัญ และทำให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกหรือ Kitchen of the World เป็นแหล่งสำรองอาหารให้กับโลกโดยเฉพาะข้าวได้ต่อไป

ดันข้าวไทยแหล่งผลิตแปรรูป-ส่งออก  สร้างความมั่นคงทางอาหารคุณภาพโลก

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า สำหรับงานประชุมข้าวโลกครั้งที่ 14 หรือ 14th World Rice Conference จัดภายใต้แนวคิด “Rice and Risks – War, Weather, Currency Market Challenges in Feeding the World” จัดโดย The Rice Trader วารสารการค้าข้าวนานาชาติชั้นนำของโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจัดระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรม ดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต ซึ่งข้าวไทยถือเป็นข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานดี จนชนะการประกวดข้าวโลกถึง 7 ครั้ง จากการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลก หรือ The World’s Best Rice Award 13 ครั้งที่ผ่านมาของนิตยสาร The Rice Trader ซึ่งมีผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศเข้าร่วม กว่า 1,000 ราย