ถอดโมเดล "บาสมาติ" อินเดีย ดัน "หอมมะลิ" ไทยตีตลาดโลก

11 พ.ย. 2565 | 13:17 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2565 | 01:45 น.

สมาคมส่งออกข้าวไทย ถอดโมเดล วิจัย “บาสมาติ” สู่ “ข้าวหอมมะลิ” เสนอ 2 พันธุ์ “หอมแม่โจ้ 9” กับ “ข้าวเจ้าหอม มช 10-1” เพิ่มหมวดข้าวหอมมะลิไทย ขายตีตลาดโลก

วันที่ 3-5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้นำคณะเดินทางไปศึกษาผลผลิตข้าวนาปี ปีการเพาะปลูก 2565/66 ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเชิญสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และ ศูนย์ข้าวชุมชน สังกัดกรมการข้าว ร่วมประเมินผลผลิตและความเสียหายจากนํ้าท่วม ประเมินสถานการณ์ส่งออก และอีกไฮไลท์สำคัญในครั้งนี้คือ การถอดโมเดลการวิจัยพันธุ์ข้าวบาสมาติของอินเดีย สู่ข้าวหอมมะลิไทยได้อย่างน่าสนใจ

 

วัลลภ มานะธัญญา

 

นายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมส่งออกข้าวไทย ระบุว่า “ข้าวบาสมาติ” มีความเหมือนกับข้าวหอมมะลิไทย เมื่อเปรียบเทียบกันทั้ง 2 พันธุ์เป็นข้าวหอมเหมือนกัน โดยข้าวบาสมาติสร้างชื่อให้กับอินเดีย  เช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิ ที่สร้างชื่อให้กับประเทศไทยในเวทีข้าวโลก แต่การพัฒนาพันธุ์ของข้าวบาสมาติกับข้าวหอมมะลิไทยแตกต่างกัน

 

ยกตัวอย่าง พันธุ์ข้าวบาสมาติ ดั้งเดิมของอินเดีย ตัวแรกคือพันธุ์ 370  ให้ผลผลิตต่อไร่ไม่สูงคล้ายกับข้าวหอมมะลิ เฉลี่ยให้ผลิต 370 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ เป็นข้าวไวแสง ปลูกได้ปีละครั้ง

 

 

 

เมื่อข้าวในอินเดียไม่พอบริโภค รัฐบาลได้อนุญาตให้นำพันธุ์ข้าวบาสมาติไปผสมข้ามพันธุ์กับสายพันธุ์อื่นได้ แต่ต้องมีพันธุ์ข้าวบาสมาติเป็นพันธุ์หลัก ผ่านมาประมาณเกือบ 20 ปี ก็พัฒนาได้พันธุ์ PUSA บาสมาติ 1121 ที่แตกต่างจากพันธุ์ดั้งเดิมคือ 1. เป็นข้าวไม่ไวแสง 2. ปลูกได้ทั้งปี 3. ผลผลิตต่อไร่ เดิม 300-400 กก. แต่พันธุ์นี้ได้เฉลี่ย 800 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

 

ต่อมาพัฒนาได้อีกพันธุ์คือ PUSA บาสมาติ 1509 ซึ่งพัฒนามาจาก PUSA บาสมาติ 1121 โดยได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 10% คือ 900 กก.ต่อไร่ ลักษณะเด่นคือ มีเมล็ดยาวถึง 8 มิลลิเมตร ต้นเตี้ย อายุการเก็บเกี่ยวสั้นลง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ชาวนาอินเดียจึงนิยมปลูกข้าวพันธุ์นี้

 

ถอดโมเดล \"บาสมาติ\" อินเดีย ดัน \"หอมมะลิ\" ไทยตีตลาดโลก

 

สำหรับข้าวบาสมาติ ปัจจุบันมี 2 ประเทศที่ส่งออกในตลาดโลก คือ  อินเดีย กับปากีสถาน โดยในปี ค.ศ. 2010 ช่วงที่อินเดียค้นพบข้าวพันธุ์บาสมาติใหม่ๆ ส่งออกได้แค่ 2.3 ล้านตัน แต่พอมา อีก 8 ปี (ค.ศ. 2018)  ส่งออกได้ 4.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ส่วนปากีสถานไม่ได้มีการพัฒนาต่อยอดอะไรกับข้าวพันธุ์บาสมาติ เห็นได้จาก ปี ค.ศ. 2010 ส่งออก 1.1 ล้านตัน แต่ผ่านมาอีก 8 ปี ส่งออกเหลือ 5.3 แสนตัน ซึ่งปากีสถานมีสภาพคล้ายไทยคือส่งออกข้าวได้ลดลง แต่อินเดียส่งออกได้เพิ่มขึ้น คล้ายกับเวียดนาม (กราฟิกประกอบ)

 

 

 

ถอดโมเดล \"บาสมาติ\" อินเดีย ดัน \"หอมมะลิ\" ไทยตีตลาดโลก

 

จากข้อมูลดังกล่าว มองว่าประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนการผลิตข้าวหอมมะลิ ที่ปัจจุบันมี 2 ตัวเท่านั้นคือ กข15 และ ขาวดอกมะลิ 105 (ตัวอื่นห้ามเรียกว่าเป็นข้าวหอมมะลิ แม้แต่จะนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิ มาผสม ก็ห้ามเรียก แต่อินเดียไม่ จำกัด ถ้ามีพันธุ์แม่บาสมาติก็จะเรียกบาสมาติไปเลย)

 

 

ทั้งนี้หากไทยสามารถวิจัยและพัฒนาข้าวหอมมะลิให้มีผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อชาวนา และตลาดส่งออก ยกตัวอย่าง หากเกษตรกรทำนา 10 ไร่  ปลูกข้าวหอมมะลิ ปกติ (ปัจจุบัน) ได้ผลผลิต 350 กก.ต่อไร่  (10 ไร่ คูณ 350) ผลผลิตรวม 3,500 กก. หรือ 3.5 ตัน ถ้าขายได้ตันละ  15,000 บาท จะได้เงิน 52,500 บาท  สมมติต้นทุน 3,000 บาทต่อไร่ 10 ไร่ มีต้นทุน 30,000 บาท รายได้หักต้น ทุนจะเหลือเพียง 22,500 บาท คิดเฉลี่ยต่อไร่เกษตรกรมีรายได้หรือกำไร 2,250 บาทต่อไร่

 

หากสามารถพัฒนาข้าวหอมมะลิเพิ่มผลผลิตได้อีกเท่าตัว เป็น  700 กก.ต่อไร่ พื้นที่เท่ากัน 10 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 7,000 กก.หรือ 7 ตัน หากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปรับลดเหลือ 12,000 บาทต่อตัน เกษตรกรก็ยังได้เงิน 84,000 บาท ส่วนต้นทุนการผลิตเพิ่มให้เป็น 4,000 บาทต่อไร่ พื้นที่ 10 ไร่เกษตรกรมีต้นทุน 40,000 บาท เมื่อนำรายได้จากการขายข้าวลบต้นทุนแล้ว เกษตรกรมีกำไร 44,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 95% ตามผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น

 

 

ขณะที่หากได้ผลผลิต 1,000 กก.หรือ 1 ตันต่อไร่ เกษตรกรมีนา 10 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 10,000 กก. หรือ10 ตัน หากคำนวณแบบที่ 2 คือ ขายข้าวเปลือกได้ 12,000 บาทต่อตัน จะมีรายรับ 120,000 บาท ต้นทุนการปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 บาทต่อไร่ รวม 10 ไร่มีต้นทุน 50,000 บาท เมื่อคำนวณแล้วเกษตรกรจะมีกำไรจากการทำนา 70,000 บาท จากเดิมมีกำไร 22,500 บาท (ผลผลิต 350 กก.ต่อไร่) สรุปได้ว่าหากมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้น และขายได้ในราคาที่ลดลง แต่เกษตรกรก็ยังมีรายได้และกำไรมากขึ้นกว่าเดิม

 

 

“หากนำข้าวเปลือกหอมมะลิราคาตันละ 15,000 บาท มาสีแปรรวมกัน จะได้ราคาข้าวสาร 30,000 บาท ต่อตัน หากคำนวณเป็นราคาส่งออกขายอยู่ที่ 810 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (คิดที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 37 บาท) จาก ตลาดข้าวไม่ชอบราคาสูงไป แต่ราคาที่เหมาะสมข้าวเปลือกควรอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน ราคาข้าวสารก็จะอยู่ที่ 24,000 บาทต่อตัน เมื่อไปขายส่งออก จะอยู่ที่ 648 ดอลลาร์สหรัฐฯไม่สูง หรือตํ่าเกินไป ซึ่งผู้ส่งออกอยากได้ราคาอย่างนี้ คือไม่เกิน 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน รับรองตีตลาดกระจุยแน่นอน เพราะเมื่อไปเทียบกับข้าวหอมเวียดนาม ข้าวไทยได้รับการตอบรับที่ดีกว่า ดังนั้นในการพัฒนาข้าวหอมมะลิควรพัฒนาเรื่องการเพิ่มผลผลิตเป็นสำคัญ”

 

ถอดโมเดล \"บาสมาติ\" อินเดีย ดัน \"หอมมะลิ\" ไทยตีตลาดโลก

 

ปัจจุบันไทย มีพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ที่มีการพัฒนาผลผลิตได้ถึง 700 กก.แล้ว คือ พันธุ์ “หอมแม่โจ้ 9”  เป็นข้าวไม่ไวแสง ปลูกได้ทุกพื้นที่ ส่วนพันธุ์ที่ให้ผลผลิต 1,000 กก.ต่อไร่ ก็มีแล้ว คือ “ข้าวเจ้าหอม มช 10-1”  หากนำ 2 ตัวนี้มาบรรจุเพิ่มให้เป็นข้าวหอมมะลิ เชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มทางเลือกคู่ค้าและผู้บริโภค และจะตีตลาดส่งออกได้อีกมาก

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,834 วันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2565