TKN “เทิร์นอะราวด์” กำไร 180 ล้านบาทเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด

11 พ.ย. 2565 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2565 | 17:28 น.

TKN ผลงาน Q3/65 ทำนิวไฮฟันกำไร 180 ล้านบาท กลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด เร่งขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์สาหร่ายครอบคลุมในและต่างประเทศดันรายได้ปีนี้เติบโตตามแผน

บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN  โชว์ฟอร์มผลงาน Q3/65 ทำนิวไฮทำกำไรสุทธิ 180 ล้านบาทกลับมาเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด-19 และมีรายได้จากการขาย 1,208.7 ล้านบาทหลังใช้ “Go Firm” ปรับองค์กรให้กระชับ (Lean) คล่องตัวและรวดเร็ว พร้อมบริหารต้นทุนราคาวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์

นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKNเปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคม - กันยายน) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 835% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 19.3 ล้านบาท ถือเป็นการทำกำไรสูงสุด (New High) ในรอบ 2 ปี นับจากช่วงเวลาก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่มีรายได้จากการขาย 1,208.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขาย 830.7 ล้านบาท

โดยมีปัจจัยมาจาก 4 ส่วน ได้แก่

1.) การมีผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่หลากหลายทั้งแบบ ทอด อบ ย่าง (Product Mixed) ทำยอดขายเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์สาหร่ายแบบอบและย่าง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง  

2.) การดำเนินกลยุทธ์ “Go Firm” ที่มุ่งปรับองค์กรให้กระชับ (Lean) คล่องตัวและรวดเร็วขึ้นเพื่อลดต้นทุน ทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการต้นทุนราคาวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง

3.) ใช้ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทำให้มีต้นทุนสามารถแข่งขันได้ และ

4.) การรวมโรงงานทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกัน โดยย้ายเครื่องจักรการผลิตจากโรงงานนพวงศ์ ปทุมธานี ไปไว้ในพื้นที่โรงงานโรจนะ ทำให้ได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies Of Scale) และอัตราการใช้กำลังการผลิตดีขึ้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน 2565) มีกำไรสุทธิ 313.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 221% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 97.7 ล้านบาท มีรายได้จากการขาย 3,135.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขาย 2,533.7 ล้านบาท และถือว่าทำผลงานได้ใกล้เคียงกับรายได้จากการขายทั้งปี 2564 ที่ทำได้ 3610.9 ล้านบาท

TKN “เทิร์นอะราวด์” กำไร 180 ล้านบาทเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด

ซึ่งความสำเร็จมาจากการดำเนินตามกลยุทธ์ 3 Go (Go firm – Go Brand – Go Global) ตามที่ตั้งไว้ ทำให้บริษัทฯ เริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น และเห็นผลชัดเจนโดยเฉพาะ Go Firm ในการ Lean องค์กรให้มีความคล่องตัวพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทำให้บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร และรักษาอัตราการทำกำไรให้ดีขึ้น

 

 บริษัทฯ ได้เดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน คาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2565 จะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10 - 13% สำหรับการขยายตลาดในประเทศ TKN ได้มุ่งมั่นขยายเข้าสู่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ซึ่งเป็นร้านโชห่วย หรือร้านขายของชำ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศและเข้าถึงคนท้องถิ่นได้ง่าย ขณะที่ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ร้านสะดวกซื้อ จะเน้นกระจายสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้นเช่นกัน

TKN “เทิร์นอะราวด์” กำไร 180 ล้านบาทเติบโตเท่าช่วงก่อนโควิด

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา TKN ได้ทยอยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ (NPD) ทั้งผลิตภัณฑ์สาหร่ายทอด สาหร่ายอบกรอบรสชาติใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สาหร่าย (Non-seaweed) และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Just Drink ที่จะออกรสชาติเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการทำกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งได้ร่วมกับ “BT21” ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนของ LINE FRIENDS ที่ออกแบบโดยวงไอดอลเกาหลีชื่อดังระดับโลก “BTS” ถือเป็นการกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้บริโภค

 

ส่วนตลาดต่างประเทศมียอดคำสั่งซื้อฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหลักในประเทศจีนแม้ยังมีสถานกาณ์การล็อคดาวน์ แต่ยังมียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเฉลี่ย 130 - 150 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน และหากในปีหน้า เมื่อจีนเปิดประเทศคาดว่าจะมียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น รวมถึงยอดขายจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในไทยก็จะดีขึ้นตามลำดับ ด้านตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกานับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มียอดคำสั่งซื้อในงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 เติบโต 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ถือเป็นการทำสถิติสูงสุด (New High) นับตั้งแต่เริ่มทำการตลาดปี 2561 โดยได้มุ่งเน้นเจาะตลาด Mainstream ที่เป็นชาวอเมริกันในท้องถิ่น และได้เตรียมเพิ่มช่องทางขายผ่านร้านค้าเครือใหญ่อย่าง ‘เทรดเดอร์โจส์’ (Trader Joe's) ที่มีสาขากว่า 500 แห่งในสหรัฐอเมริกา รวมถึงขยายตลาดแบรนด์ ‘โนระ’ (NORA) เข้าสู่ประเทศแคนาดา ผ่านการวางจำหน่ายสินค้าในห้างคอสโค (Costco)  นอกจากนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในประเทศอังกฤษในการนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้โมเดลธุรกิจในรูปแบบสหรัฐฯ

 

ขณะที่ตลาดในโซนเอเซีย อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม บริษัทฯ ได้เข้าไปทำกิจกรรมทางการตลาดมากยิ่งขึ้น ผ่านการผลิตของพรีเมียม และร่วม Collaboration กับตัวการ์ตูนสุดฮิต เพื่อเพิ่มสีสันและการส่งเสริมการขายให้ดียิ่งขึ้น