ครม.เคาะ “ค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน” ปี 2566-67 เพิ่ม 3 บาท

08 พ.ย. 2565 | 13:41 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 00:33 น.
5.5 k

ครม.เคาะ “ค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน” ปี 2566-67 เฉลี่ยเพิ่ม 3 บาท อยู่ที่ 24 บาทต่อคนต่อวัน โดยแยกตามขนาดโรงเรียนขนาดเล็กได้สูงสุด 36 บาทต่อคนต่อวัน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอ โดยให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียน 

 

โดยใช้วงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3,533 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 ครม.ได้อนุมัติหลักการในการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายการค่าใช้จ่ายค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนไว้ด้วยแล้ว 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ครั้งนี้ จะปรับเพิ่มขึ้นอัตราเฉลี่ย 24 บาทต่อคนต่อวัน จากเดิมอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 บาทต่อคนต่อวัน โดยแบ่งออกเป็นตามขนาดของโรงเรียนดังนี้

 

โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 1-40 คน 

  • ได้ค่าอาหารกลางวัน 36 บาทต่อคนต่อวัน

 

โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 41-100 คน 

  • ได้ค่าอาหารกลางวัน 27 บาทต่อคนต่อวัน

 

โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 101-120 คน 

  • ได้ค่าอาหารกลางวัน 24 บาทต่อคนต่อวัน

 

โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป 

  • ได้ค่าอาหารกลางวัน 22 บาทต่อคนต่อวัน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2565 ที่ประชุมครม.ได้เคยเห็นชอบปรับอัตราค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนจากอัตรา 20 บาทต่อคนต่อวัน เป็นอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน ก่อนจะปรับปรุงอีกครั้งในปีงบประมาณ 2566-2567 หลังจากกระทรวงศึกษาธิการ ระบุเหตุผลว่า เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาของนักเรียน

 

  • นักเรียนทั่วประเทศ 5.8 ล้านคนได้เงินค่าอาหารกลางวันเพิ่ม

 

ต่อมา นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี ว่า อัตราค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียน ครอบคลุมนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 - ป.6  ของ รร.ประถมศึกษา 5 สังกัด จำนวนนักเรียน 5,792,119 คน ได้แก่ 

  • โรงเรียนสังกัด สพฐ. 
  • โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. (รวมทั้งที่จัดตั้งขึ้นเองและรับถ่ายโอน) 
  • โรงเรียนสังกัดตำรวจตะเวนชายแดน
  • สถานศึกษาสังกัดการศึกษานอกระบบ
  • สถานศึกษาสังกัด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 

 

“การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันตามขนาดของโรงเรียนว่า จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับขนาดของโรงเรียนและจำนวนนักเรียน ทำให้โครงการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด” โฆษกรัฐบาล ระบุ