9เดือนสินค้าฟุ่มเฟือยโตต่อเนื่อง อานิสงส์ท่องเที่ยวบูม-เปิดประเทศ

03 พ.ย. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 20:37 น.

9เดือนสินค้าฟุ่มเฟือยโตต่อเนื่อง มูลค่า 6,089.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 42.26% ชี้ปัจจัยหนุนมาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวตามการเปิดประเทศ เงินบาทอ่อนค่าเพิ่มขีดแข่งขัน ตลาดสำคัญขยายตัว คาดแนวโน้มดีต่อ แต่ต้องจับตาเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย ฉุดกำลังซื้อ 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย9 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 6,089.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.26% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 12,413.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 72.48%  และเฉพาะดือนก.ย.2565 มีมูลค่า 1,012.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 89.49% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,536.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 99.31%

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากที่มีการเปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาด มีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยสต๊อกที่ระบายออกเร็วจากการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เพิ่มขึ้น

 สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวได้ดีในช่วง 9 เดือน ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 31.03% อินเดีย เพิ่ม 144.30% ฮ่องกง เพิ่ม 10.02% เยอรมนี เพิ่ม 18.73% สิงคโปร์ เพิ่ม 199.43% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 52.42% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 65.50% เบลเยี่ยม เพิ่ม 36.84% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 32.84% และอิตาลี เพิ่ม 88.54%

ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับทอง เพิ่ม 57.73% เพชรเจียระไน เพิ่ม 62.07% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 104% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 77.52% พลอยก้อน เพิ่ม 51% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 11.16% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 10.83% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 27.24% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า เพิ่ม 21.67% ส่วนเพชรก้อน ลด 0.84% และทองคำ เพิ่ม 116.84%

 

แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น และการที่เงินบาทอ่อนค่า ได้ส่งผลดีให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ยังต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศ จากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาน้ำมัน ที่ยังเป็นปัจจัยกดดัน

ทั้งนี้ GIT ได้เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยล่าสุดได้ลงนาม MOU กับอีเบย์ นำสินค้าจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (BWC) ไปจำหน่าย และได้นำระบบ AI มาช่วยในการตัดสินว่าอัญมณีที่ทำการตรวจสอบนั้น มาจากประเทศใด แหล่งใด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ รวมทั้งได้ผลักดันมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรม และผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำตลาด ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก