ทำความรู้จักมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม : ภาษีคาร์บอนในประเทศ

02 พ.ย. 2565 | 12:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 21:40 น.
705

"ภาษีคาร์บอน"หนึ่งในมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษา ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทความ ประเมินกรณีจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางตรงจากการผลิต คาดจะมีโรงงานไทยกว่า 4.5 หมื่นแห่ง ต้องรายงานเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานเข้มข้น

 

สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบเกิดจากการความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศจึงมีมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงบทลงโทษจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เพื่อใช้ในการเพิ่มต้นทุนในสินค้าที่พึงประสงค์ เพื่อให้ผู้ผลิตลดจำนวนการผลิต หรือเพื่อให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าอื่นที่มีราคาถูกกว่า 

 

โดยภาษีคาร์บอนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มต้นทุนในสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เพื่อให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง หรือผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า ซึ่งกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการนำภาษีคาร์บอนมาใช้ในประเทศไทย

            
 

ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)  เป็นภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (NO2) หรือก๊าซกลุ่มฟลูโอริเนต (F-Gases) ที่มีคุณสมบัติทำลายชั้นโอโซน เช่น ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เป็นต้น โดยฐานภาษีคาร์บอนที่ใช้ในการจัดเก็บมี  2 แบบ

 

  • 1.จัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า และ
  • 2. จัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค
     

ทำความรู้จักมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม : ภาษีคาร์บอนในประเทศ

 

ในต่างประเทศ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนมีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ขณะที่ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกาบางประเทศเริ่มมีการนำภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้เช่นกัน ปัจจุบันมี 29 ประเทศ ได้ทำการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว  โดยอัตราภาษีคาร์บอนในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บค่อนข้างแตกต่างกัน ตั้งแต่ 0.08 – 137 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน CO2 ซึ่งมีทั้งการจัดเก็บภาษีทางตรงจากการผลิตและจัดเก็บภาษีจากการบริโภค

 

แนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศไทย

           

สำหรับประเทศไทย กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เริ่มนำอัตราภาษีที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซ CO2 มาใช้ครั้งแรกในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ในปี ค.ศ. 2016 โดยรถยนต์ที่มีอัตราการปล่อย CO2 ต่ำ จะจัดเก็บอัตราภาษีต่ำ และอัตราภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 และในปี ค.ศ. 2022 กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำภาษีคาร์บอนมาใช้ ทั้งการจัดเก็บจากสินค้าทางอ้อม และการจัดเก็บโดยตรงจากกระบวนการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมตามมาตรการ EU- CBAM ของสหภาพยุโรป

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ประเมินว่าการจัดเก็บภาษีคาร์บอนของกรมสรรพสามิตนั้น สามารถทำได้ทั้งจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต และการจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว
 

 

กรณีจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางตรงจากการผลิต จะเริ่มกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องมีการออกแบบกระบวนการตรวจสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกระบวนการผลิต และการรายงานผลให้กับกรมสรรพสามิต รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตาม EU –CBAM และ
ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและการประกอบกิจการพลังงาน จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้แก่ภาครัฐ  

 

ทำความรู้จักมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม : ภาษีคาร์บอนในประเทศ

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีโรงงานจำนวน 45,163 แห่ง ที่จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น โดยหมวดหมู่อุตสาหกรรมที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์อโลหะ อาหาร และเครื่องดื่ม และคาดว่าอัตราภาษีจะอ้างอิงตามราคาคาร์บอนเครดิตในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่าง 20 - 1,874.93 บาทต่อตัน CO2 หรือเทียบเท่า 0.5 - 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน CO2

 

กรณีจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล  กรมสรรพสามิต สามารถเริ่มจัดเก็บภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิลให้อ้างอิงกับปริมาณ CO2 ที่ได้จากการเผาไหม้ได้ทันที โดยกำหนดอัตราภาษีจากเชื้อเพลิงตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่อ้างอิงกับปริมาณ CO2 และปริมาณการปล่อย CO2 ของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ซึ่งหากเปรียบเทียบภาษีสรรพสามิตและภาษีคาร์บอนจากน้ำมันเบนซินของไทยกับต่างประเทศพบว่าอัตราภาษีน้ำมันเบนซินของไทยอยู่ที่ 0.172 เหรียญสหรัฐฯ ต่อน้ำมันเบนซิน 1 ลิตร ซึ่งสูงกว่าการจัดเก็บในหลายประเทศ อีกทั้งหากเปลี่ยนอัตราภาษีน้ำมันเบนซินในปัจจุบันให้เป็นอัตราตามปริมาณการปล่อย C02 โดยไม่เพิ่มภาระภาษี จะเท่ากับประมาณ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน CO2

 

 

ทำความรู้จักมาตรการเพื่อสิ่งแวดล้อม : ภาษีคาร์บอนในประเทศ

 

ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมอย่างไร

 

  • 1.ผู้ประกอบการควรตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ขององค์กรให้เป็นประจำ การตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหากเป็นบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์จะต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรายงานประจำปี ขณะที่ในปี 2023 สินค้าส่งออกไปยังสหภาพยุโรปในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจะต้องมีการรายงาน Carbon Footprint ตามมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM)ของสหภาพยุโรป อีกทั้ง สหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อนำมาตรการ CBAM มาใช้สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการรายงาน Carbon footprint ของกระบวนการผลิตสินค้าเช่นเดียวกัน

 

  • 2.ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ด้วยแนวโน้มการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความพยายามของภาครัฐในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลให้กิจการที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงหรือยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่ากิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญต่อการวางแผนการลงทุนในระยะยาวเพื่อการประหยัดและปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานเป็นพลังงานสะอาด รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

  • 3.สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับความนิยมมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น หากผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นการขยายตลาดไปสู่คนรุ่นใหม่ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ การสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้บริโภคถึง 97% จากผู้ที่ถูกสำรวจ 475 คน ยินดีที่จะจ่ายซื้อสินค้าและบริการในราคาที่แพงขึ้น สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการหันไปจำหน่ายเชื้อเพลิงผสมเอทานอลที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้น้อยกว่า เป็นต้น

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด 

คลิกอ่านฉบับเต็ม :  ที่นี่