เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับใหม่ ลุยเพิ่มทุน 3.15 แสนล้าน

01 พ.ย. 2565 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 04:42 น.
828

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับแก้ไข เตรียมเพิ่มทุน 3.15 แสนล้านบาท จัดสรรให้เจ้าหนี้สินเชื่อใหม่-เจ้าหนี้เดิม 2.16 แสนล้านบาท อีก 9.8 หมื่นล้านบาทให้ผู้ถือหุ้นเดิม ราคาไม่เกิน 2.5452 บาท เพื่อให้ได้เงินไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท คาดดำเนินการเสร็จในธ.ค.67

แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านความเห็นชอบของศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 เป็นการปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หลังการบินไทยดำเนินการปฏิรูปองค์กรและธุรกิจ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

 

ทำให้การบินไทยไม่จำเป็นต้องก่อหนี้ใหม่ เพื่อใช้ดำเนินกิจการสูงถึง 5 หมื่นล้านบาทตามแผนเดิม จึงปรับแผนลดเงินสินเชื่อใหม่เหลือไม่เกิน 2.5 หมื่นล้านบาท  โดยการก่อหนี้ใหม่ จะอยู่ในรูปสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปีและ/หรือตราสารหนี้อายุไม่น้อยกว่า 6 ปี ไม่เกิน 12,500 ล้านบาทและอีก 12,500 ล้านบาทเป็นวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน และ/หรือตราสารหนี้อายุตํ่ากว่า 6 ปี

 

เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับใหม่ ลุยเพิ่มทุน 3.15 แสนล้าน

 

ทั้งนี้แผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ได้ปรับวิธีการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ 19 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกัน (เฉพาะเจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินของการบินไทยเป็นหลักประกันตาม สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ) โดยเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้จากเดิมที่การบินไทยต้องนำเครื่องบินที่เป็นหลักประกันออกขายเพื่อชำระหนี้เท่านั้น เป็นการชำระหนี้จากกระแสเงินสดที่ได้จากการประกอบกิจการเพิ่มเติมด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้การบินไทย สามารถนำเครื่องบินที่เป็นหลักประกันกลับมาใช้ในการประกอบธุรกิจได้

 

ส่วนเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 คือ กระทรวงการคลังเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้ จากเดิมที่จะได้รับชำระด้วยเงินสดจนครบถ้วนในปีที่ 12 ของแผน เป็นชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นหุ้นสามัญของการบินไทย ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยจะได้รับชำระภายในปี 2567

 

ขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน),เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 - 31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) เปลี่ยนวิธีการชำระหนี้จากเดิมที่รับชำระด้วยเงินสดจนครบถ้วนในปีที่ 12 ถึง 15 ของแผน (แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม) เป็นได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นตามแผนในอัตรา 24.50% ของภาระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้แต่ละรายเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยจะได้รับชำระหนี้ภายในปี 2567 โดยภาระหนี้เงินต้นคงค้างส่วนที่เหลือจะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนที่ศาลเห็นชอบตามเดิม

นอกจากนี้กำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับดอกเบี้ยของภาระหนี้เงินต้นคงค้างส่วนที่ได้รับชำระหนี้จากการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนในระหว่างที่ยังไม่มีการแปลงหนี้เป็นทุน และกำหนดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยใหม่จากภาระหนี้งินต้นคงค้างส่วนที่ได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสด ในครึ่งปีหลังของปีที่ 13 ของแผนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระภาระหนี้เงินต้นครบถ้วน (สำหรับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 และกลุ่มที่ 6 ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน) และใน 2 ปีสุดท้ายก่อนครบกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนตามแผน (สำหรับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 0.25% ต่อปี

 

รวมไปถึงเจ้าหนี้กลุ่มที่ 9 (เจ้าหนี้ผู้โดยสารที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) ได้เพิ่มรายละเอียดขั้นตอนการชำระคืนค่าบัตรโดยสารและจำนวนที่จะชำระคืน โดยที่กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ยังเป็นไปตามแผนที่ศาลเห็นชอบ กล่าวคือ เจ้าหนี้ที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารทุกรายจะต้องได้รับชำระหนี้ภายใน 31 มีนาคม 2567

 

ขณะที่การปรับโครงสร้างทุน การบินไทยจะเพิ่มทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 216,773,146,220 บาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ไม่เกิน 21,677,314,622 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น รองรับการใช้สิทธิของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น จัดสรรเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน และไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น รองรับการใช้ สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

 

นอกจากนั้น การบินไทยยัง จะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกไม่เกิน 98,224,736,260 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้น ที่จะทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Pubic Offering - PPO) ที่ราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควร แต่จะต้องไม่ตํ่ากว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อให้ได้รับเงินเพิ่มทุนไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้จะต้องเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 228,108,476 หุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมคงสัดส่วน การถือหุ้นไม่น้อยกว่า 10% ของทุนจดทะเบียน ชำระแล้วภายหลังจากการปรับโครง สร้างทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของบริษัทฯ ในการนำหลักทรัพย์กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่งในปี 2568 และการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือมีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญไม่เต็มจำนวน การบินไทยจะนำหุ้นในส่วนที่ไม่มีการใช้สิทธิมาเสนอขายให้แก่ พนักงานของบริษัทฯ เป็นอันดับแรก และหายังมีหุ้นเหลือให้นำหุ้นที่เหลือมาเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement - PP)

 

ทั้งนี้การจัดสรรและการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ การแปลงหนี้เป็นทุน การเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือพนักงานของบริษัทฯ และ/หรือนักลงทุน (PP) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2567

 

นอกจากนี้การบินไทยยังได้เพิ่มแผนการปรับปรุงฝูงบิน โดยแผนการจัดหาฝูงบินระหว่างปี 2565 – 2568 จะมีทั้งหมด 32 ลำ โดยจะเป็นการเช่าเครื่องบิน ซึ่งในปี 2565 จำนวน 8 ลำ ประกอบด้วย โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 3 ลำ โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยได้มีมติให้เช่าดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 และการนำเครื่องบินที่ปลดระวางไปแล้ว 5 ลำปรับปรุงเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ คือ แอร์บัสเอ330-300 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง777-200ER จำนวน 2 ลำ

 

ในปี 2566 จำนวน 9 ลำ ประกอบด้วยแอร์บัส 350-900 จำนวน 2 ลำ อากาศยานที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาจำนวน 7 ลำ ในปี 2567 มีแผนจัดหาฝูงบินเพิ่มจำนวน 12 ลำ และในปี 2568 มีแผนจัดหาฝูงบินเพิ่มจำนวน 3 ลำ เพิ่มเติมจากปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินใช้งานอยู่จำนวน 68 ลำ

 

สำหรับเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย จะต้องจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ตามแผน ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม (EBITDA)จากการดำเนินงาน หลังหักเงินสด จ่ายหนี้สินตามสัญญาค่าเช่าเครื่องบิน ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือน ก่อนรายงานศาลและส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก