‘รับเบอร์ซิตี้’ สงขลาคึกคัก ทุนมาเลย์บุกดูพื้นที่ 

26 ต.ค. 2565 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2565 | 22:37 น.
2.3 k

ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้เผย นักลงทุนมาเลเซียสนใจดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (รับเบอร์ซิตี้) คึกคักหลังจากเปิดประเทศ เตรียมขยายโปรโมชั่นจูงใจ ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ศึกษาแนวทางความร่วมมือเมืองยาง 3 ประเทศ

นายวุฒิชัย วงศ์หิรัญเดชา ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความเคลื่อนไหวโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและเปิดประเทศเป็นต้นมา ว่า ตอนนี้เริ่มมีนักลงทุนสนใจเข้าดูมาพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาสอบถามพื้นที่อยู่พอสมควร และคาดภายในต.ค.นี้ น่าจะมีการจองพื้นที่อีกประมาณ 5 ไร่

 

ปัจจุบันพื้นที่ขายและเช่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ยังมีพื้นที่เหลืออีกประมาณ 400 กว่าไร่ โดยสถานการณ์ช่วงนี้ค่อยดีขึ้นตามลำดับ มีนักลงทุนเข้ามาสอบถามข้อมูล รวมถึงมีการตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มของนักลงทุนรายเดิม ทำให้ในช่วง 1-2 เดือนนี้ บรรยากาศเริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวคึกคักดีขึ้นตามลำดับ

‘รับเบอร์ซิตี้’ สงขลาคึกคัก ทุนมาเลย์บุกดูพื้นที่ 

‘รับเบอร์ซิตี้’ สงขลาคึกคัก ทุนมาเลย์บุกดูพื้นที่ 

ด้านการทำตลาดและการประชา สัมพันธ์ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนนั้น ถ้าเป็นลักษณะในพื้นที่จะใช้วิธีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนจากมาเลเซีย ที่เข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา ช่วยแจ้งข่าวสารผ่านทางเครือข่าย และชวนกันมาลงทุน เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทางหนึ่ง

 

ขณะที่ในส่วนของสำนักงานใหญ่เอง ก็มีแผนประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่มีจบในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังพิจารณาจะขยายโปรโมชั่น ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากเริ่มมีกระแสตอบรับที่ดี หลังจากที่ผ่านมาติดขัดจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจนักลง ทุนให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City)

‘รับเบอร์ซิตี้’ สงขลาคึกคัก ทุนมาเลย์บุกดูพื้นที่ 

‘รับเบอร์ซิตี้’ สงขลาคึกคัก ทุนมาเลย์บุกดูพื้นที่ 

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าความร่วมมือด้านยางพาราระหว่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 13- 16 กันยายน 2565 ที่โรงแรม ทราย ลากูนา ภูเก็ต จ.ภูเก็ต มีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Ministry of Industry Republic of Indonesia; MOI) หน่วยงานระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (Northern Corridor Implementation Authority; NCIA) ประเทศมาเลเซีย และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) เพื่อการเชื่อมโยงของเมืองยางพารา (Rubber Cities) ของ 3 ประเทศสมาชิก

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) เป็นการพัฒนาในหลายๆ เรื่อง เพียงแต่ในเรื่องของพัฒนาทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีเรื่องเมืองยางพารา (Rubber Cities) เข้ามา

 

“ก็เลยมีโครงการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ ของไทย ของมาเลเซีย และของอินโดนีเซีย โดยการศึกษาร่วมกันก่อน ว่าแต่ละโมเดลของแต่ละประเทศมีลักษณะเป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อเสียอะไร มีปัญหาอะไร และจะทำความร่วมมือกันได้อย่างไร”

 

เนื่องจากวันนี้มีสิ่งที่จะต้องทำร่วมกัน เช่น การขอสิทธิพิเศษในเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงาน สิทธิการข้ามแดนหรือการลงทุนข้ามแดนกัน ซึ่งเป็นรายละเอียดที่จะต้องมาศึกษาและตกลงร่วมกันอีกที ในระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งเป็นรายละเอียดขั้นถัดไปที่จะต้องดำเนินการ

 

“เบื้องต้นเป็นเรื่องของการศึกษาแนวทางการเชื่อมความร่วมมือกัน ระหว่างเมืองยางพาราของ 3 ประเทศ คือ ระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ฉะนั้นจะต้องมานั่งดูกันในรายละเอียด เช่น มาเลเซียมีโครงการเมืองยางพาราตรงข้ามด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี ขณะไทยเองก็มีเมืองยางพาราที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่) อยู่”

 

ทั้งนี้ ระหว่างไทยกับมาเลเซียก็มีร่วมมือกันกลายๆ อยู่แล้ว พอมีอินโดนีเซียเข้ามาเลยต้องมาทำให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจนและครอบคลุมมิติต่างๆ ให้ครบถ้วนมากขึ้น เช่น สิทธิทางภาษี การเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่อาจจะต้องมาปัดฝุ่นกันใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงต้องหยิบปัญหาต่างๆ ขึ้นมาดูในรายละเอียดร่วมกัน

 

โดยเป้าหมายของการเชื่อมโยงของเมืองยางพารา (Rubber Cities) ของ 3 ประเทศสมาชิกในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยางพารา และร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาง พร้อมทั้งความร่วมมือด้านงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ยาง ความร่วมมือด้านมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์ยาง การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรในวงการยางพาราตลอดจนความร่วมมือด้านธุรกิจของทั้ง 3 ประเทศ

 

ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ Rubber City ของแต่ละประเทศ มี ศักยภาพในการดำเนินการ และขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ลดการแข่งขันกันเองระหว่างเมืองยางพาราแต่ละแห่ง เพิ่มมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดน (Border Trade) โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่มีทำเลที่ตั้ง Rubber City อยู่ใกล้กัน และคาดว่าราคายางจะเป็นไปในทิศทางที่ดีจากมูลค่าการค้าชายแดนที่เพิ่มสูงขึ้น 

 

สมชาย สามารถ/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27-29 ตุลาคม พ.ศ.2565