นักวิชาการ NGO ชี้รัฐสร้างสะพานไม่ใช่ต้นเหตุ โลมาอิรวดี เสี่ยงสูญพันธุ์

21 ต.ค. 2565 | 15:14 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 22:22 น.

นักวิชาการ NGO ประสานเสียง รัฐบาลไฟเขียวโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา กับข้อกังขาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ชี้ไม่ใช่ต้นเหตุทำ โลมาอิรวดี เสี่ยงสูญพันธุ์

กรณีที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม 2 โครงการ คือ โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มูลค่ากว่า 6,695 ล้านบาท และเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

 

โดยเฉพาะโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ใกล้เขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ถือเป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครอง “โลมาอิรวดี” ขณะที่โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา เป็นบริเวณที่พบ “โลมาปากขวด” และ “โลมาหลังโหนก” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าวการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เสี่ยงกระทบโลมาอิรวดี

ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า การก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จะกระทบต่อโลมาอิรวดีจนถึงกับสูญพันธุ์ไปเลยหรือไม่นั้น ณ ปัจจุบัน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่แล้ว และปัญหาหลักที่กระทบไม่ใช่มาจากการมีโครงการก่อสร้างสะพาะ แต่มาจากการทำประมงในพื้นที่ 

 

“จริง ๆ การก่อสร้างสะพานก็ไม่ใช่ปัญหาหลักที่จะกระทบกับโลมาอิรวดี เพราะต่อให้ไม่มีสะพานก็อาจสูญพันธุ์ได้จากเดิมที่เคยมีกว่า 30 ตัวมาเหลือ 14 ตัวในตอนนี้ทั้งที่ยังไม่มีการสร้างสะพานขึ้นมา โดยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างสะพานคงต้องมาดูอีกครั้งว่า จะเกิดขึ้นช่วงไหน ทั้งช่วงก่อสร้าง หรือหลังก่อสร้างไปแล้ว แต่ผลที่ชัดเจนยังไม่ได้สรุปออกมา” ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุ

 

สำหรับทางออกที่น่าจะดีที่สุด ยอมรับว่า เมื่อมีการสร้างสะพานจริง ก็ควรต้องหาทางช่วยโลมาอิรวดีไปควบคู่กันให้มีทางรอดมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนอาชีพประมง การจัดการประมง การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่รัฐให้ทำประมงในพื้นที่ที่เหมาะสมไม่ส่งผลกระทบต่อโลมาอิรวดี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแผนของรัฐอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะผลักดันออกมาได้อย่างไร

ปัจจุบันโลมาอิรวดี ถือเป็นสัตว์หายากมากกว่าวาฬบรูดา หรือฉลามวาฬ ตามการจัดอันดับระดับโลก ซึ่งแหล่งที่พบโลมาอิรวดีอาศัยในแหล่งน้ำจืดในโลกมีแค่ 5 พื้นที่เท่านั้น และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นคือบริเวณทะเลสาบสงขลา และมีปริมาณน้อยที่สุด เพราะจากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีเพียงแค่ 14 ตัวเท่านั้น

 

ขณะที่ นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า โลมาอิรวดี เป็นสัตว์ในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ แต่ไม่ใช่สัตว์เศษฐกิจเหมือน ปลาดุกทะเล ปลากระบอก ปลาขี้ตัง หรือกุ้งก้ามกราม และไม่ถึงกับเป็นสัตว์สายพันธุ์หายาก และ ที่ผ่านมาการตายของโลมาอิรวดีจนน่ากังวลนั้น มีสาเหตุมาจาก การติดอวนประมง และการขาดมาตรการดูแลอย่างจริงจัง 

 

ดังนั้นจึงมองว่า การก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา คงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้โลมาอิรวดีสูญพันธุ์ แต่ในทางกลับกันยังช่วยสนับสนุน ให้มีทุกฝ่ายร่วมกันหาวิธีในการคุ้มครองปลาโลมาอิรวดีได้อีกด้วย 

 

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การอนุรักษ์ต้องกินได้ คือ ชาวบ้านเองต้องได้ประโยชน์จากการอนุรักษ์ เช่น หากเราหวงป่าชายเลนไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์ได้เลย ชาวบ้านก็จะเกลียดป่าชายเลน เช่นเดียวกันกับแนวทางการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ต้องไม่ทำให้ชาวบ้านเกลียดโลมา แต่ก็ต้องใช้เวลา และขึ้นอยู่กับมาตรการของทุกฝ่ายต้องทำการศึกษา และมีมาตรการออกมาเพื่อให้โลมาอยู่ร่วมกับชุมชนได้ในระยะยาว” 

 

ส่วนแนวทางการอนุรักษ์โลมาอิรวดี เห็นว่า ต้องได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านด้วย เพราะในทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านสามารถทำประมงได้เต็มพื้นที่ เว้นแต่จะเป็นเขตอนุรักษ์หน้าชุมชน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับโลมาอิรวดี เพราะโลมามีพฤติกรรมการหากินเป็นวงกว้าง จึงต้องกำหนดพื้นที่ให้โลมาอยู่ และไม่เสี่ยงกับการติดอวนจากการทำประมง