“โลมาอิรวดี-โลมาปากขวด” เสี่ยงกระทบหนัก หลังครม.เคาะสร้างสะพาน 6 พันล้าน

19 ต.ค. 2565 | 04:32 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 05:41 น.
779

“โลมาอิรวดี-โลมาปากขวด” เสี่ยงกระทบหนัก หลังครม.เคาะสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา มูลค่ากว่า 6,695 ล้านบาท วงในครม.ถกวุ่น กำชับผลกระทบสิ่งแวดล้อม สัตว์ทะเล หลังเจอข้อมูล โลมาอิรวดี ทะเลสาบสงขลาเหลือแค่ 14 ตัว

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มูลค่ากว่า 6,695 ล้านบาท ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม เสนอ 

 

แม้ในรายละเอียดของโครงการกระทรวงคมนาคม จะบรรยายความเหมาะสมและประโยชน์ที่จะได้รับ หลังจากโครงการแล้วเสร็จไว้อย่างครบถ้วน แต่ท้ายที่สุดก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นกังวลใจอย่างยิ่ง เพราะครม.ได้มีข้อสังเกตุถึงเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้เพิ่มเติมด้วย 

 

อ่านข่าวประกอบ : ครม. ทุ่มงบ 6.7 พันล้าน สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา -สะพานเชื่อมเกาะลันตา

โดยในที่ประชุม ครม. ได้หารือถึงกรณีการก่อสร้างโครงการนี้ พร้อมกำชับว่าในการดำเนินโครงการก่อสร้าง จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 2 โครงการ พบข้อมูลสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 

  • โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง อยู่ใกล้เขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งห่างจากบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 6 กม. และพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครอง “โลมาอิรวดี” 
  • โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง - ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นบริเวณที่พบ “โลมาปากขวด” (Tursiops aduncus) และ “โลมาหลังโหนก” (Sousa chinensis) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อีกทั้งยังอาจกระทบแนวประปารังและหญ้าทะเลด้วย
  • ครม.ถกผลกระทบโลมาอิรวดี สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่เหลือเพียง 14 ตัว 

เรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แจ้งในที่ประชุมครม.ว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ได้ทาบทามขอกู้เงินจากธนาคารโลกในโครงการนี้ แต่ติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากธนาคารโลกเป็นห่วงเรื่องการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่เหลืออยู่เพียง 14 ตัวเท่านั้น 

 

เนื่องจากมีเฉพาะที่นี่เป็นฝูงสุดท้าย ซึ่งอาจจะต้องอาศัยความรู้จากต่างประเทศ ไม่ให้มีผลกระทบกับโลมา อาจจะย้ายถิ่นที่อยู่ หาวิธีดูแล อาจจำเป็นต้องใช้ Man-Made Environment หรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เพราะถ้ากระทบกับสิ่งแวดล้อมธนาคารโลก จะไม่ให้กู้เงิน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้สอบถามว่า โลมาอิรวดีมาจากไหน และเหลือแค่ในประเทศไทยใช่หรือไม่

 

จากนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้อธิบายว่า โลมาอิรวดีมาจากลุ่มน้ำอิรวดี แต่จำนวนลดลงมาก จึงอาจจะใช้ Man-Made Environment แทนที่จะปล่อยตามธรรมชาติ ซึ่ง นายอาคม กล่าวเสริมขึ้นว่า สาเหตุที่โลมาอิรวดีลดลง เป็นเพราะการทำประมง โดนอวน และโลมาชนิดนี้ ออกทะเลไม่ได้ เพราะจะทำให้อ่อนแอ สืบพันธุ์ไม่ได้ ต้องหาอนุรักษ์ อาจต้องใช้เทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามาช่วย 

 

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบที่ประชาชนใช้ประโยชน์มาก การทำอะไรค่อนข้างมีผลกระทบกับโลมาอิรวดี ดังนั้นจึงควรจะหาทางโยกย้ายโลมาอิรวดี และควรให้สำคัญเรื่องนี้ ซึ่งทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้มีผลกระทบต่อโลมาอิรวดีที่เหลืออยู่เพียง 14 ตัว และต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

  • ครม.หาข้อสรุป สั่งหาแนวทางป้องกันผลกระทบต่อสัตว์

 

ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมครม. จึงเห็นว่า ในประเด็นเกี่ยวกับธนาคารโลก ซึ่งจะเป็นผู้ให้กู้ตามโครงการนี้ยังได้แสดงความห่วงใยมานั้น ก็ขอให้กระทรวงการคลัง ประสานกับธนาคารโลกและหน่วยงานต่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันผลจากโครงการก่อสร้างไม่ให้กระทบสัตว์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองออกมาให้ชัดเจนต่อไป

 

ภาพประกอบ : โลมาอิรวดี จากวิกิพีเดีย

 

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลของ “โลมาอิรวดี” หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง พบว่า เป็นหนึ่งในสัตว์หายาก และมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ 

 

โดยมีลักษณะเด่นของ “โลมาอิรวดี” คือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบบนมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว มีขนาดประมาณ 180–275 เซนติเมตร น้ำหนัก 3.21 กิโลกรัม

 

“โลมาอิรวดี” ได้รับการค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า จึงเป็นที่มาของชื่อ ปัจจุบันถึงแม้ว่าสามารถพบโลมาในเขตแม่น้ำและทะเลในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลก

 

บริเวณที่พบจำนวน “โลมาอิรวดี”  มากที่สุดอยู่ในทะเลสาบจิลิกา รัฐโอฑิศา ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลาในภาคใต้ของประเทศไทย ขณะเดียวกันในปี 2459 มีรายงานว่าพบอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และเคยมีผู้จับ “โลมาอิรวดี” ได้ที่คลองรังสิต ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานครด้วย

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยระบุว่า โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาเหลือเพียงแค่ 14 ตัว นับถอยหลังวันสูญพันธุ์

 

โดยในโลกนี้มี โลมาอิรวดี ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย กว่า 140 อินโดนีเซีย 90 เมียนมาร์ 80 กัมพูชา 90 และไทย 14 ตัว ในทะเลสาบสงขลา คือ สถานที่แห่งแรกในโลก ที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์