ชาวบ้านอ่วม เวนคืน 3.2 พันไร่ สร้างสนามบินบึงกาฬ

21 ต.ค. 2565 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 20:30 น.
2.6 k

“ทย.” ลุยซาวด์เสียงประชาชนรอบ 2 สร้างสนามบินบึงกาฬ วงเงิน 3.1 พันล้านบาท เร่งสรุปผลทำอีไอเอ ชงสผ.เคาะภายในเดือนพ.ย.นี้ จ่อเวนคืนที่ดิน 3.2 พันไร่ เล็งก่อสร้างปี 69 เปิดให้บริการปี 72 คาดผู้โดยสารแตะ 1.49 แสนคนต่อปี

ปัจจุบันบึงกาฬถือเป็นจังหวัดใหม่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นทุกปี อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการค้าชายแดนติดกับแขวงบอลิค้าไช สปป.ลาว เป็นเหตุให้ “กรมท่าอากาศยาน” เร่งผลักดันสนามบินบึงกาฬ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ในอนาคต

 

 

 

 รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ พื้นที่ 4,400 ไร่ วงเงิน 3,152 ล้านบาท ที่ผ่านมากรมฯ ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท อลานา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ทรานส์ เอเชีย คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท แมสทรานสิท โซลูชั่นส์ จำกัด และบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ รวมทั้งศึกษารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ วงเงิน 42.69 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 9 เดือน หรือ 270 วัน

 

 

 

ล่าสุดกรมฯได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ในโครงการฯดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ไปรษณีย์,โทรศัพท์,อีเมล์ ฯลฯ จนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 และจัดทำรายงานสรุปความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่2 และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยจะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 และเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2569 ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

ขณะเดียวกันจากผลการศึกษาพบว่า โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬจะครอบคลุมพื้นที่บริเวณโดยรอบที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ในระยะห่างจากแนวขอบท่าอากาศยานไปไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร โดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 1 จังหวัด 2 อำเภอ 8 ตำบล ประกอบด้วย 1.อำเภอเมืองบึงกาฬ จำนวน 7 ตำบล ได้แก่ บึงกาฬ,วิศิษฐ์,โป่งเปือย,นาสวรรค์, โนนสว่าง,ไคสี, โนนสมบูรณ์ และ 2.อำเภอโซ่พิสัย จำนวน 1 ตำบล คือ ศรีชมภู

 

 


ส่วนการเวนคืนที่ดินของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ ใช้พื้นที่ประมาณ 4,400 ไร่ จะต้องจัดซื้อที่ดินทั้งหมด 230 แปลง มีพื้นที่รวมประมาณ 3,278 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ สปก. ซึ่งอยู่ในการถือครองสิทธิ์เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำกิน เป็นสวนยางพารา พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 696 ไร่ และอื่นๆ เช่น ถนน และแหล่งน้ำ ประมาณ 426 ไร่ อาคารบ้านเรือนในพื้นที่โครงการ จำนวน 313 หลัง แบ่งเป็น ที่พักอาศัย 133 หลัง และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เช่น เพิงพัก โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ 180 แห่ง 

 

 


ทั้งนี้จากการเวนคืนที่ดินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬนั้น ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่โครงการในปัจจุบันต้องย้ายออกจากพื้นที่การเกษตร เช่น สวนยางพารา นาข้าว และพืชไร่ต่างๆ เบื้องต้นจะมีการชดเชยผลตอบแทนให้ชาวบ้านจากการสูญเสียจากการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระดับที่เหมาะสม 
 

สำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลวิศิษฐ์และตำบลโป่งเปือย อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ พื้นที่ 4,400 ไร่ ประกอบด้วย อาคารที่พักผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ทางวิ่งมีความยาวทางวิ่ง 2,990 เมตร ความกว้างของทางวิ่ง 45 เมตร ไหล่ทางวิ่งกว้างข้างละ 7.5 เมตร มีทางขับวางตัวคู่ขนานไปกับทางวิ่ง จำนวน 1 เส้น ความกว้างของทางขับ 23 เมตร ไหล่ทางขับกว้างข้างละ 7.5 เมตร รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 160 ที่นั่งได้ 

 

ชาวบ้านอ่วม เวนคืน 3.2 พันไร่ สร้างสนามบินบึงกาฬ


ที่ผ่านมาตามแผนเดิมของโครงการฯจะก่อสร้างท่าอากาศยานด้านตะวันตกของเมืองบึงกาฬ ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นพื้นที่หนองน้ำ ทำให้ต้องปรับปรุงพื้นที่อีกมาก แต่จากการศึกษาล่าสุดได้เลือกตำแหน่งการก่อสร้างโครงการฯใหม่ ในบริเวณด้านทิศใต้ ห่างจากตัวเมือง 12 กิโลเมตร (กม.) และห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่ สปป.ลาว ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร (กม.) 

 

 


ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าหลังจากท่าอากาศยานบึงกาฬ เมื่อเปิดให้บริการภายในปี 2572 คาดว่าสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 149,172 คนต่อปี จำนวนเที่ยวบิน 1,244 เที่ยวต่อปี และภายในปี 2602 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 494,254 คนต่อปี จำนวนเที่ยวบิน 4,120 เที่ยวต่อปี ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดบึงกาฬ มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น หากเดินทางทางรถยนต์จะใช้เวลาราว 11-12 ชั่วโมง ขณะที่เดินทางทางเครื่องบินจะใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง