เลขาธิการใหม่บีโอไอ ลุย 200 กิจกรรม ดูดย้ายฐานผลิตต่างชาติครั้งใหญ่

20 ต.ค. 2565 | 08:46 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2565 | 16:05 น.
1.1 k

ในสายตาชาวโลก มองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นและตอบโจทย์ด้านการลงทุน ด้วยจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการแข่งขันดึงดูดการลงทุนในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เลขาธิการใหม่บีโอไอ ลุย 200 กิจกรรม ดูดย้ายฐานผลิตต่างชาติครั้งใหญ่

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความพร้อมที่ต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นในการดึดดูดการลงทุน ความพิเศษของฐานผลิตในไทย และบทบาทบีโอไอนับจากนี้

 

  • จับตาย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่

นายนฤตม์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (12 ต.ค.65) ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (ปี 2566-2570) เป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อนำเสนอบอร์ดบีโอไอพิจารณาต่อไป โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว โดยบีโอไอได้วางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้าน ได้แก่

 

1.Innovation เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ 2.Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ปรับตัวเร็วและสร้างการเติบโตสูง และ 3.Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม การสร้างโอกาสและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ดีในปี 2566 การดึงดูดการลงทุนมีความท้าทายสูง จากสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนทั่วโลก เช่น การที่โลกมีการแบ่งขั้วทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ถึงขั้นเกิดเป็นสงคราม บวกกับวิกฤติเศรษฐกิจ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมากในหลายประเทศ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน(supply chain) และการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ตามมา

 

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์

 

สำหรับคลื่นการย้ายฐานการผลิตรอบนี้ จะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การดึงห่วงโซ่อุปทานกลับไปประเทศตนเองหรือประเทศพันธมิตร เพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตในประเทศฝ่ายตรงข้าม เพื่อกระจายความเสี่ยง หากที่ใดที่หนึ่งประสบปัญหาต้องหยุดการผลิต รวมทั้งปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการผลิตแบบแยกส่วน (Modularization) หรือใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน

 

ทั้งนี้จากเดิมการเลือกแหล่งลงทุน ผู้ประกอบการมักพิจารณาจากปัจจัยด้านตลาด ต้นทุนการผลิต และสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก แต่เมื่อโครงสร้างอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไป จากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้ปัจจัยที่จะมีผลต่อการเลือกฐานการลงทุนก็จะเปลี่ยนไป โดยนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับเรื่องความพร้อมของบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุน

 

 “วันนี้เมื่อโลกเผชิญกับวิกฤติหลายด้านพร้อม ๆ กัน ทำให้มีปัจจัยที่นักลงทุนต้องคำนึงถึงมากขึ้นในการเลือกแหล่งลงทุน เช่น การหลีกเลี่ยงสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความยืดหยุ่นของซัพพลายเชน รวมทั้งกระแสเรื่อง ESG และ Decarbonization ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอน เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเริ่มมีการออกกฎกติกามาบังคับใช้กับภาคธุรกิจมากขึ้น ทำให้การเลือกแหล่งลงทุนต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย” 

 

เลขาธิการใหม่บีโอไอ ลุย 200 กิจกรรม ดูดย้ายฐานผลิตต่างชาติครั้งใหญ่

 

ดังนั้นการลงทุนในอนาคตจึงมุ่งสู่ประเทศที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่ำ มีความยืดหยุ่นที่จะรองรับวิกฤติต่าง ๆ และมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม สามารถจัดหาพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตได้อย่างเพียงพอ  กลยุทธ์ในการดึงการลงทุนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน โดยต้องให้น้ำหนักกับการสร้างจุดแข็งในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งการอำนวยความสะดวก และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สามารถดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ได้

 

  • ความพิเศษไทย 3 ด้าน

สำหรับไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความโดดเด่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนได้  จากมีจุดแข็งหลายด้าน และยังมีความพิเศษที่แตกต่างจากประเทศอื่นใน 3 ด้าน คือ 1.ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ มีความเป็นกลาง ไม่มีความขัดแย้งที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ  2. มีความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดสำหรับภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอนของบริษัทผู้ลงทุน และ 3.มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับวิกฤติ จะเห็นว่าช่วงโควิดรุนแรงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่สร้างปัญหาให้กับภาคธุรกิจ โรงงานต่างๆ ยังสามารถทำการผลิตและนำเข้า-ส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม จากประเทศอื่นในภูมิภาคต่างเร่งพัฒนาความพร้อมและออกมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน หากเราเดินช้า ก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น บทบาทบีโอไอในอนาคต จะไม่เน้นที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีเท่านั้น แต่จะมององค์รวมในลักษณะ Whole Package โดยจะบูรณาการเครื่องมือสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ ทั้งด้านภาษีและการเงิน อีกทั้งจะให้ความสำคัญกับด้าน Non-tax มากขึ้น เช่น เรื่อง Ease of Doing Business โดยจะทำงานร่วมกับ กพร. สำนักงาน EEC และหน่วยงานต่างๆ ในการปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น 

 

รวมถึงเรื่องสำคัญด้านบุคลากร ให้มีทักษะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ต้องทำให้ประเทศไทยมี Talent Pool ที่ใหญ่และมีคุณภาพ ทั้งการพัฒนาบุคลากรไทยและการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ

 

บีโอไอในอนาคต จะไม่ใช่แค่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน แต่การดึงดูดเทคโนโลยีและบุคลากรทักษะสูง (Talent) จะเป็นอีกภารกิจสำคัญด้วย    รวมถึงการยกระดับผู้ประกอบการไปสู่ Green & Smart Industries  โดยการให้สิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนหรือใช้เทคโนโลยีสีเขียว และพลังงานสะอาด

 

รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลหรือระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และจะสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 อย่างที่ตั้งเป้าไว้

 

การปรับปรุงกฎระเบียบและขั้นตอนของทางราชการ ให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ   โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตต่างๆ  และการเปิดประตูการค้าผ่าน FTA ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มยุโรป เพื่อให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค และเสริมให้ไทยเป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกในตลาดที่กว้างขวางขึ้น และมีการเปิดเสรีภาคบริการให้มากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็น Enabler ที่สำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรม

 

  • อัด 200 กิจกรรมดูดลงทุน

เลขาธิการบีโอไอคนใหม่ กล่าวอีกว่า การดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 บีโอไอได้วางแผนจัดกิจกรรมเชิงรุกเจาะกลุ่มเป้าหมายกว่า 200 ครั้ง ทั้งการสัมมนารายอุตสาหกรรม รายประเทศ และสัมมนากลุ่ม Influencers เช่น ธนาคาร บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานพันธมิตร  การเข้าร่วมเผยแพร่ข้อมูลในงาน Industrial Fair ต่าง ๆ การจัดประชุมโต๊ะกลมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการเดินสายพบปะรายบริษัท ทั้งโดยส่วนกลางและสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ และใช้ความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรมากขึ้น

 

โดยนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย นอกจากนี้มี สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น  ในแง่อุตสาหกรรม จะมุ่งไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ เช่น EV, อิเล็กทรอนิกส์, BCG, ดิจิทัล, เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ รวมทั้งการดึงสำนักงานภูมิภาค และกิจกรรมวิจัยและพัฒนา โดยจะเน้นดึงนักลงทุนรายสำคัญที่จะเป็นเหมือนแม่เหล็กในการดึงรายอื่น ๆ ตามมาได้ในอนาคต

 

นอกเหนือจากนักลงทุนต่างชาติ   บีโอไอ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็ง และมีขีดความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ใน Global supply chain หรือเชื่อมต่อกับตลาดโลกได้  โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งจะเป็นกองทัพผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และกลุ่ม Startup ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนหนุ่มสาวที่มีพลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยจะมีมาตรการพิเศษออกมาเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการใน 2 กลุ่มนี้ด้วย