สื่อโฆษณา ฝ่ามรสุม ‘เงินเฟ้อ-ภัยธรรมชาติ’ ปี 65 โตแค่ 8.1หมื่นล้าน

18 ต.ค. 2565 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 23:48 น.

วิกฤตเงินเฟ้อ-ภัยธรรมชาติ ฉุดอุตสาหกรรมสื่อโตต่ำเป้า “ช่อง 3” หั่นเป้าธุรกิจทีวีเหลือ 50% เพิ่มสัดส่วนเพลง-คอนเทนต์ต่างประเทศ ด้าน “อสมท.” เร่งหาธุรกิจอื่นเสริมพอร์ตเตรียมรับแรงกะแทกหมดสัญญาคลื่น-โครงข่ายวิศวกรรมอีก 6 ปีข้างหน้า

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด และอุปนายกและกรรมการ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจสื่อไตรมาส 4 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าการเปิดประเทศและวิถีชีวิตของคนกลับมาเป็นปกติประกอบกับอีเวนต์ต่างๆ เช่น ฟุตบอลช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมน่าจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรม

 

แต่สุดท้ายแล้วโมเมนตัมอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร ปีนี้ทั้งปีคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 7.4 % หรือมีมูลค่ารวมประมาณ 81,813 ล้านบาทจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 10% เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตต่างๆ รวมถึงค่าครองชีพประกอบกับการซ้ำเติมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคเองที่กำลังซื้อยังไม่กลับมาดีพอ

สื่อโฆษณา ฝ่ามรสุม ‘เงินเฟ้อ-ภัยธรรมชาติ’ ปี 65 โตแค่ 8.1หมื่นล้าน

โดยอุตสาหกรรมที่ยังมีโมเมนตัมที่ดีคือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เพราะได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกทั้งเรื่องเทรนด์ EV และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆจากค่ายต่างๆทำให้ปีนี้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ทั้งหมดทั้งรถยนต์ทั่วไปและเชิงพาณิชย์เติบโตดี และอุตสาหกรรมยังดีต่อเนื่องคือ e-marketplace ซึ่งยังเป็นหมวดที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และหมวดสุดท้ายที่ยังเติบโตดีเช่นกันคือ เครื่องดื่ม Non-alcohol

           

ในส่วนของสื่อเติบโตลดลงทั้งหมดโดยเฉพาะสื่อดั้งเดิมทั้งวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ โดยสื่อที่มีการเติบโตร้อนแรงในปีนี้คือออนไลน์และ out of Home ส่วนสื่อทีวีทรงๆไม่ได้เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตามในแง่ของการใช้จ่ายเงินโฆษณาในปีนี้ลูกค้ามีกระสุนที่จำกัดเพราะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตทำให้ต้องลดต้นทุนในบางส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อให้คงราคาหรือขึ้นราคาสินค้าให้ต่ำที่สุด แน่นอนการโฆษณาประชาสัมพันธ์มีผลอย่างแน่นอน

 

ส่งผลโดยตรงให้ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อแต่ละรายได้รับกระสุนน้อยลงตามไปด้วยประกอบกับผู้บริโภคได้รับผลกระทบหลายส่วนโดยเฉพาะอุทกภัยที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อไตรมาสสุดท้ายมากน้อยแค่ไหน บวกกับกำลังซื้อของคนยังหดต่อเนื่องสะสมมาจากสภาวะโควิค ทำให้ไม่มีเงินสำหรับการโปรโมท แต่เจ้าใหญ่หรือบางรายยังมีการทุ่มเม็ดเงินโฆษณามากขึ้นเพราะถือว่าปีนี้ยังอยู่ในจุดที่ดีกว่าปี 2564

สื่อโฆษณา ฝ่ามรสุม ‘เงินเฟ้อ-ภัยธรรมชาติ’ ปี 65 โตแค่ 8.1หมื่นล้าน            

“เราชื่อว่าปีหน้าจะดีกว่าปีนี้เพราะปัจจัยของโควิด น่าจะเบาบางลงทำให้ตัวเลขภาพรวมเป็นบวกแน่นอนแต่น่าจะเติบโตเลขหลักเดียว หรืออาจมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้แต่ไม่ว่ามันจะเติบโต 1-2 หลักก็ตามเรายังมองว่าจะยังไปไม่ถึงปี 2562 และ 3 สื่อหลักที่มีความคึกคักก็ยังคงไม่พ้นสื่อดิจิตอล out of Home และสื่อหลักอย่างทีวี ซึ่งถือว่าเป็นพระเอกที่จะทำให้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังคึกคัก ในขณะที่สื่ออื่นๆเป็นช่วงขาลงส่วนจะลงแรงแค่ไหนอยู่ที่ 3 สื่อหลัก ถ้า 3 สื่อหลักโตมากขึ้นแต่ลูกค้ามีเม็ดเงินโฆษณาเท่าเดิมเม็ดเงินก็จะไปอยู่ที่ 3 สื่อหลัก และทำให้สื่ออื่นดรอปลงเร็วในวิถีที่สวนทางกันพอดี”

           

ด้านนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้จะมีการเปิดประเทศแล้วแต่ในกลุ่มของคนที่ใช้เงินจริงๆ ค่อนข้างระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มของการใช้เงินโฆษณา และในส่วนของเราเองยังมีปัญหาเรื่องของโปรดักชั่น ซึ่งไตรมาสที่ 4 น่าจะมีส่วนในการช่วยผลักดันรายได้ ในส่วนของรายการข่าวโมเมนตัมของเราดีอยู่แล้วและมีเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตเราคาดว่าจะมีการปรับราคาขึ้น เพราะมีดีมานด์อยู่ในรายการ

           

ส่วนที่เหลือจะเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ โควิด ภัยธรรมชาติ เพราะธุรกิจของเราคือธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับโฆษณาเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นของคนที่ใช้เม็ดเงินโฆษณา ดังนั้นนอกจากคอนเทนต์ที่ดีแล้วยังมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเป็นตัวทำให้ดีและไม่ดีด้วย แต่โดยภาพรวมแล้วโอกาสที่จะสามารถทำรายได้สูงกว่า 6 เดือนแรกยังมี เป้าหมายของเราคือทำให้ไตรมาสที่เหลืออยู่ดีกว่าไตรมาส 1 และ 2”

สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์

สำหรับทิศทางการเติบโตในปี 2566 ธุรกิจทีวีโอกาสในการเติบโตกว่าปีที่แล้วยังมีอยู่ขึ้นอยู่กับว่าช่องไหนสามารถที่จะสร้างคอนเทนต์ออกมาได้โดนใจกว่ากัน ปัจจุบันรายได้ของบีอีซีเวิลด์ ไม่ได้มาจากทีวีช่องทางเดียวแต่มาจากการผลักดันคอนเทนต์ให้สามารถออกอากาศทั้งในไทยและต่างประเทศได้ ดังนั้นในปีหน้าช่อง 3 มุ่งที่จะเติบโตในด้านของเอ็นเตอร์เทนเม้นท์และวาไรตี้ ซึ่งในอดีตช่อง 3 เคยมีความแข็งแกร่งมากแต่ปัจจุบันผู้ผลิตรายการหันออกไปทำช่องของตัวเอง

           

“ปีนี้คาดว่ารายได้จากธุรกิจทีวีน่าจะจบที่ประมาณ 85% และอีก 15% เป็น Digital platform กับ International Business ส่วนปีหน้ารายได้จากทีวีอาจจะเพิ่มขึ้นแต่เปอร์เซ็นต์ในภาพจะลดลง และในระยะยาว 5 ปีจากนี้ไปเราต้องการให้สัดส่วนทีวีอยู่ที่ 50% และรายได้จากทางอื่น ทั้งบีอีซีสตูดิโอ Music Business, Movie Business และ Marketing อยู่ที่ 50% ซึ่งจะทำให้กำไรของเรากลับมาอยู่ในระดับที่ดี และเป้าหมายใหญ่คือกลับไปมีรายได้และกำไรเท่ากับช่วงพีคคือกำไรเกิน 5,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีกำไร700-800 ล้านบาท”

           

ขณะที่นางสาวสุนทรียา วงศ์ศิริกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการเงินและปฏิบัติหน้าที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายได้ครึ่งปีแรกของ อสมท ต่ำกว่าเป้าประมาณ 10% เนื่องจากไตรมาสแรกถูกกระทบจากรายได้วิทยุเป็นหลัก เพราะมีความเสี่ยงในการประมูลคลื่นวิทยุ 60 คลื่นซึ่งอสมท ประกาศว่าจะเข้าไปประมูล 55 คลื่นและสุดท้ายสามารถประมูลมาได้ 47 คลื่น ทำให้ในช่วงปรับผังรายการวิทยุและโทรทัศน์ไตรมาสแรก ลูกค้ายังไม่ซื้อโฆษณายาวทำให้รายได้กระทบ ส่วนไตรมาสที่ 2 สถานการณ์ดีขึ้นแต่ยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขพลิกกลับมาเป็นบวกได้

 

“เรายังไม่ยึดเป้าการเติบโตเหมือนเดิมคือเติบโตกว่ากว่าปีที่แล้ว 10% เป็นเป้าหมายก็ค่อนข้างท้าทายเพราะครึ่งปีติดลบ 10 % เพราะฉะนั้นเพิ่งครึ่งปีหลังผลประกอบการเราต้องเป็นบวก 20 % ถึงจะเป็นไปตามเป้าหมาย วิทยุเราประมูลมาได้ 47 คลื่น จุดเด่นของเราคือครอบคลุมทั่วประเทศเหมือนเดิม

 

แต่ต้องปรับกระบวนการเช่น Mellow ซึ่งเดิมตั้งใจจะไม่เข้าประมูลและหันทำออนไลน์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของเราและต้องใช้เวลาในการพัฒนาและสร้างมั่นใจกับ media buyer ที่เคยโฆษณาออนแอร์หันมาลงกับออนไลน์ ซึ่งเราหวังว่า Mellow ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของวิทยุจะกลายเป็นโมเดลให้กับสถานีวิทยุที่เราประมูลมาไม่ได้ในต่างจังหวัด”

           

ต้องยอมรับว่าธุรกิจสื่อปัจจุบันหรือบรอดแคสติ้งถูกดิสรัปท์ ธุรกิจเก่าเรายังต้องเมนเทนให้มีกำไรและธุรกิจใหม่ก็ยังต้องทำเพิ่มเติมขึ้นมา ตอนนี้ธุรกิจของ อสมท จะแบ่งเป็นโทรทัศน์ซึ่งใบอนุญาตหมดปีในปี 2572 ธุรกิจวิทยุ ใบอนุญาตจะหมดปี 2572 เช่นกัน และธุรกิจโครงข่ายวิศวกรรมซึ่งลูกค้าปัจจุบันจะหมดสัญญาเช่าปี 2571 เพราะฉะนั้น อสมท จะต้องมองธุรกิจใหม่เข้ามาเสริม เพราะไม่แน่ใจว่าอีก 6 ปีข้างหน้าธุรกิจทีวี วิทยุจะเปลี่ยนหน้าตาเป็นอย่างไร

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,826 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565