28 พ.ย.นี้ ลุ้น BEM ลงนามสัญญาจ้าง CK ตอกเสาเข็ม สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

18 ต.ค. 2565 | 15:13 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2565 | 23:59 น.

“BEM” เล็งจับมือ CK ลงนามสัญญาจ้างเหมาติดตั้งงานระบบ-เดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.09 แสนล้านบาท เตรียมใช้แหล่งเงินทุนภายนอก จ่อกู้ยืมสถาบันการเงิน-ออกหุ้นกู้ เผยตรึงค่าโดยสาร 17-44 บาท นาน 10 ปี

รายงานข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2565 ได้กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่าโครงการ 139,127 ล้านบาท กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้วันที่ 31 ตุลาคม 2565 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อสิทธิเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XM หรือวันที่ไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 ตุลาคม 2565)

 

 

 ขณะที่การลงทุนในโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีระยะเวลาการให้บริการเดินรถไฟฟ้าตามสัญญาร่วมลงทุน 30 ปีให้บริการช่วงตะวันออกจึงเป็นโอกาสที่จะเพิ่มความสามารถให้แก่บริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ช่วยเพิ่มรายได้จากการบริหารโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมถึงการเชื่อมต่อและขยายโครงข่ายของรถไฟฟ้าที่บริษัทบริหารอยู่ในปัจจุบันให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการที่มากขึ้น และเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและรายได้ของโครงการภายใต้สัมปทานของบริษัท

 

 

 นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีแนวสายทางรถไฟฟ้าเชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยผ่านบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นและไม่มีระบบชนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้ารองรับจึงเป็นการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าสามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารจากชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองได้รวดเร็วขึ้นประกอบกับโครงการถไฟฟ้าสายสีส้มมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการไฟฟ้าสายต่างๆ หลายสาย จึงเป็นปัจจัยบวกที่โครงการจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น รวมถึงการส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่บริษัทบริหารอยู่ จะเป็นโอกาสให้กับบริษัทในการสร้างรายได้โดยรวมได้มากขึ้น

 

 

 “บริษัทคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากภายนอก โดยการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ หรือการใช้แหล่งเงินทุนภายในจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมถึงเงินสนับสนุนที่ได้รับจาก รฟม. สำหรับงานโยธาช่วงตะวันตก โดยบริษัทเห็นว่าแหล่งเงินทุนในข้างต้นมีความเพียงพอต่อการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม”

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งงานออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1.การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยมูลค่างานและดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง จำนวน 95,432 ล้านบาท และ 2.การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและบำรุงรักษา จำนวน 43,695 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอร่วมลงทุนของบริษัทที่เสนอต่อ รฟม.อีกทั้งพิจารณาว่าจ้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้บริหารและก่อสร้างงานโยธา (ช่วงตะวันตก) และผู้ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบ และทดลองเดินรถไฟฟ้า (ช่วงตะวันออกและตะวันตก) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) ในลักษณะจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Lump Sum Turnkey) มีค่าตอบแทนรวม 109,216ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

 

 

รายงานข่าวจาก BEM กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันภายหลังจากบริษัทได้เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มกับ รฟม.โดยสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งโครงการนี้มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

 

 

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานีตั้งแต่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-สถานีสุวินทวงศ์ โดยเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

 

2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานีตั้งแต่สถานีบางขุนนนท์-สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด ระยะเวลาของโครงการ 33 ปี 6 เดือน แบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาและการจัดหาระบบรถไฟฟ้า

 

3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก ระยะเวลา 3 ปี 6 เดือนนับจาก วันที่รฟม. ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

 

4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก ระยะเวลา 6 ปี นับจากวันที่ รฟม. ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 2 การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและบำรุงรักษา ระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริษัทจะมีแหล่งรายได้หลักจาก 2 ส่วน ได้แก่ การจัดเก็บค่าโดยสารและรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารจะมีการปรับทุกๆ 2 ปี ตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และยกเว้นค่าแรกเข้าให้กับผู้โดยสารที่เดินทางต่อเนื่องมาจากโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม. และเพื่อประโยชน์ของประชาชน บริษัทตกลงตรึงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มไว้เท่ากับอัตราที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ขอเจรจาเป็นระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก (ค่าโดยสาร = 17-44 บาท ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของ CPI ทุก 2 ปี) หลังจากนั้นจะกลับไปใช้อัตราค่าโดยสารตามสัญญา

 

 


นอกจากนี้ รฟม.จะรับผิดชอบจ่ายค่างานโยธาช่วงตะวันตก และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างโดยแบ่งชำระเป็นรายปีตามที่ได้มีการจ่ายจริงจากการดำเนินงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 6 ปี เริ่มตั้งแต่ปีที่ 3 ถึงปีที่ 8 นับจากวันที่รฟม. ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน โดยชำาระเป็นสกุลเงินบาทให้แก่บริษัทรวมถึงบริษัทมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รฟม.โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 การจ่ายเงินตอบแทนคงที่ให้ รฟม. ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอร่วมลงทุนของบริษัทที่เสนอต่อ รฟม.และส่วนที่ 2 การจ่ายผลตอบแทนผันแปร เมื่อบริษัทมีผลตอบแทนการลงทุน (Equity Internal Rate of Return หรือ "Equity IRR") จากการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เกินกว่าร้อยละ 9.75

 

 

 

สำหรับการเข้าทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะทำให้เพิ่มสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจหลักของบริษัทเกี่ยวข้องกับสัมปทาน ซึ่งมีระยะเวลาครบกำหนด โดยปัจจุบันบริษัทมีสัญญาโครงการรถไฟฟ้า 2 สัญญา คือ สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งจะครบกำหนดในปี 86 และสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งจะครบกำหนดในปี 93 และมีสัญญาโครงการทางพิเศษ 3 สัญญา คือ สัญญาสัมปทานทางพิเศษศรีรัช และสัญญาสัมปทานทางพิเศษอุดรรัถยา ซึ่งจะครบกำหนดในปี 78 และสัญญาสัมปทานทางพิเศษ สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ซึ่งจะครบกำหนดในปี 85