“จุรินทร์”สัญญาใจเกษตรกรภาคใต้ เดินหน้าต่อประกันรายได้ปี 4

14 ต.ค. 2565 | 18:55 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2565 | 02:01 น.
710

“จุรินทร์”ยืนยันพี่น้องเกษตรกรภาคใต้ ประกันรายได้ปี 4 พืชเกษตร 5 ชนิด ยังเดินหน้าต่อ ส่วนปุ๋ยราคาเริ่มลดลงต่อเนื่อง ยูเรียลง 18% ปุ๋ยใช้สำหรับปาล์มลง 25% เตรียมเจรจาจีน คาซัคสถาน นำเข้าเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่านโยบายประกันรายได้ เกิดขึ้นตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว จะเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้สองส่วนจากราคาที่ขายในตลาดและส่วนต่างจากรายได้ที่ประกัน โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตรง มีการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมา ช่วยให้พี่น้องชาวปักษ์ใต้ลืมตาอ้าปากได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชุมพรมีเกษตรกรผู้ปลูกยาง 50,000 ราย ได้เงินรวมเฉพาะส่วนต่าง 765 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 16,235 บาท ปาล์มน้ำมันมี 61,000 ราย โอนเงินส่วนต่าง 3 ปีที่ผ่านมา 1,230 ล้านบาท ได้ส่วนต่างเฉลี่ยรายละ 20,000 บาท 

 

 

“จุรินทร์”สัญญาใจเกษตรกรภาคใต้  เดินหน้าต่อประกันรายได้ปี 4

สำหรับราคาพืชเกษตรสำคัญในภาคใต้ คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดยยางพาราราคาดีขึ้น ปีที่แล้วไปถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ความต้องการน้ำยางไปผลิตถุงมือยางจึงลดลง ล่าสุด ยางแผ่นดิบ 47-50บาทต่อกก. ขี้ยาง 21-23 บาทต่อกก. ถือว่าราคายังดี ส่วนปาล์มน้ำมันก่อนตนเข้ามา กิโลกรัมละ 2 บาทกว่าหลายปี วันนี้ 4-6 บาทต่อกก. บางช่วงถึง 12 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นธรรมชาติของราคาพืชผลเกษตรทุกประเทศในโลกเหมือนกัน ราคาไม่เสถียรขึ้นกับตลาดโลก ความต้องการ และผลผลิตในโลก เป็นไปตามกลไกตลาดโลก 

“จุรินทร์”สัญญาใจเกษตรกรภาคใต้  เดินหน้าต่อประกันรายได้ปี 4

ทางด้านการดูแลเกษตรกร มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2542 สมัยรัฐบาลชวนสอง (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2) เพื่อช่วยเกษตรกร 2 เรื่อง คือ 1.ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ไม่ให้เสียที่ดินไปเป็นของนายทุน โดยชดใช้หนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ แทน เมื่อชำระครบจะคืนโฉนดให้กับเกษตรกร ซึ่งมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนจนถึงวันนี้ 5,600,000 ราย แก้ปัญหาหนี้สินไปแล้ว 500,000-600,000 ราย และวันนี้ลดดอกเบี้ยให้กับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เหลือ 0% และจะมีเงินฟื้นฟูพัฒนาชีวิตเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ของบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปลงทุนให้มีรายได้ ยังชีพได้

“จุรินทร์”สัญญาใจเกษตรกรภาคใต้  เดินหน้าต่อประกันรายได้ปี 4

“จังหวัดชุมพรช่วยเหลือพี่น้องมาแล้ว ให้เงินจัดการซื้อหนี้ช่วงที่ตนเข้ามาเป็นประธาน 168 ล้านบาท แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรคืนโฉนดไปแล้ว 970 ราย ให้งบประมาณทำโครงการฟื้นฟูอีก 130 โครงการ เกือบ 100 ล้านบาท และวันนี้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เป็นหนี้ เพิ่มอีก 1,134 คนในจังหวัดชุมพร ซึ่งเกษตรกร คือ หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ”

 ส่วนเรื่องปุ๋ยที่ราคาแพง ซึ่งแพงมา 1-2 ปี เพราะราคาน้ำมันโลกแพงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก โดยก๊าซธรรมชาติ คือ วัตถุดิบในการทำปุ๋ย ปุ๋ยต้องนำเข้า 100% ประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ ราคาจึงขึ้นอยู่กับตลาดโลก ที่ผ่านมา ราคาขึ้นไปหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้นทุนปุ๋ยแพง และต้องนำเข้า โดยใช้น้ำมันขนส่ง ซึ่งตนพยายามปรับปรุงโครงสร้างราคาใหม่ ลดกำไรลง แต่ต้องให้ผู้นำเข้าอยู่ได้ด้วย ไม่ให้ปุ๋ยขาดตลาด

“จุรินทร์”สัญญาใจเกษตรกรภาคใต้  เดินหน้าต่อประกันรายได้ปี 4

 ทั้งนี้ เรื่องปุ๋ยขาดแก้ได้พอสมควร เพราะได้มีการเจรจากับซาอุดีอาระเบียได้ปุ๋ยมา 450,000 ตัน และอีกไม่กี่วันนี้จะเจรจากับจีน เพราะก่อนนี้ จีนห้ามส่งออกปุ๋ยจะไปเจรจาเป็นพิเศษ เพื่อขอนำเข้า และอีกประเทศ คือ คาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศผลิตปุ๋ย เพื่อนำปุ๋ยช่วยแก้ปัญหาไม่ให้ขาด โดยจากการติดตามราคา พบว่า ปุ๋ยราคาลดลง ยูเรียลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาสูง และสูตร 21-0-0 ที่ใช้กับปาล์มน้ำมัน ลดลงประมาณ 25% ซึ่งพวกตนคิดถึงพี่น้อง รัฐบาลนี้ไม่ทิ้ง จะพยายามช่วยให้เดือดร้อนน้อยที่สุด และพยายามสร้างรายได้พืชผลเกษตรให้ดีขึ้น เพื่อชดเชยกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และสุดท้ายยังมีประกันรายได้ เพื่อให้พี่น้องพอลืมตาอ้าปากได้ หากมีมาตรการอื่น ตนก็ยินดีที่จะเข้ามาช่วยดูแล

ข้อมูลจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ระบุว่า วันนี้ได้มีการมอบเช็คเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรสมาชิก จำนวน 1 ราย จำนวน 1 สหกรณ์ เป็นเงินจำนวน 361,556.03 บาท มอบโฉนดที่ดินคืนเกษตรกรที่ได้ชำระหนี้คืนกองทุนครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำนวน 5 ราย 8 แปลง เนื้อที่ 47 ไร่ 1 งาน 76.7 ตารางวา และมอบใบทะเบียนองค์กรเกษตรกร จำนวน 13 องค์กร จำนวนสมาชิก 1,134 คน