เกษตรกรจี้รัฐล้างบาง “หมูเถื่อน” ขั้นเด็ดขาด “น้ำท่วม” ทุบซ้ำทำแทบหมดตัว

14 ต.ค. 2565 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2565 | 21:39 น.

ผู้เลี้ยงวอนรัฐกวดขันหมูเถื่อนต่อเนื่อง จี้ปราบปรามขั้นเด็ดขาด หลังขายตัดราคาทำขาดทุน หวั่นโรค ASF กระทบซ้ำการเลี้ยงที่เพิ่งฟื้นตัว ขณะผลพวงน้ำท่วมทำผู้เลี้ยงกระอัก แบกต้นทุนสูงป้องกันโรคที่มากับน้ำ

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เผยว่า จากการภาครัฐได้ดำเนินการตรวจจับหมูเถื่อนอย่างต่อเนื่องและถี่ขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีกับเกษตรกร ขณะที่ฟาร์มสุกรในภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นฟาร์มรายย่อย จึงต้องยกระดับการป้องกันโรคด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ในฟาร์ม กลายเป็นต้นทุนแฝง ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นถึง 300-500 บาทต่อตัวหมูขุน ขณะนี้ที่เวลานี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรมีต้นทุนในการฟื้นฟูฟาร์ม และต้องเสริมการป้องกันโรคให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคที่มากับน้ำ

 

สำหรับการตรวจจับเนื้อหมูเถื่อน ของกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากรที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  ถือเป็นภารกิจที่ช่วยให้ผู้เลี้ยงมีกำลังใจมากขึ้น ซึ่งจากปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผู้เลี้ยงในบางพื้นที่จำเป็นต้องจับสุกรขายก่อนกำหนด ช่วงนี้จึงมีปริมาณหมูขุนออกสู่ตลาดมากขึ้น แต่เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง ดังนั้นการเร่งปราบปรามขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่เป็นการทำร้ายเกษตรกรจึงมีความสำคัญ เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจ และคงอาชีพนี้ต่อไป

 

อย่างไรก็ดีการปราบปรามหมูเถื่อนนั้นภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากร ต้องทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามานั้นขายในราคาเฉลี่ย 135-145 บาทต่อกิโลกรัม  เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาหมูในประเทศมาก และเป็นการทำลายกลไกราคาหมูไทย ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เลี้ยงทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กที่มีภาระต้องกู้เงินมาฟื้นฟูกิจการ หากจะต้องขายหมูขาดทุนก็ยากที่จะไปต่อในอาชีพได้

 

เกษตรกรจี้รัฐล้างบาง “หมูเถื่อน” ขั้นเด็ดขาด “น้ำท่วม” ทุบซ้ำทำแทบหมดตัว

นายสุนทราภรณ์  กล่าวอีกว่า เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือเริ่มกลับมาเลี้ยงสุกรรอบใหม่ แต่ก็มีจำนวนไม่มากจากต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ และพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังมีความกังวลกับหมูเถื่อนที่ยังมีเข้ามาในพื้นที่  ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีปัญหาหมูเถื่อนเข้ามาแทรกแซงตลาดในหลายจังหวัด ทำให้ยอดขายหมูในพื้นที่ไม่ได้ปรับขึ้นตามธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาฟื้นตัว

 

เกษตรกรจี้รัฐล้างบาง “หมูเถื่อน” ขั้นเด็ดขาด “น้ำท่วม” ทุบซ้ำทำแทบหมดตัว

 

นอกจากนี้ผู้เลี้ยงยังมีความกังวลกับหมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามาว่าจะนำโรคต่างถิ่นมาด้วย โดยเฉพาะโรคสำคัญอย่าง ASF (อหิวาต์แอฟริกา) รวมถึงสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมาทำอันตรายผู้บริโภค รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อราคา ซึ่งขณะนี้มีหมูเถื่อนกระจายใส่กล่องโฟม ส่งกระจายไปทั่ว จึงต้องการให้ภาครัฐกวดขันจับกุมอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้หมูเถื่อนเหล่านี้หมดไปโดยเร็ว หากปล่อยให้หมูเถื่อนเหล่านี้ยังสามารถกระจายขายได้ทั่วไป เท่ากับเป็นการทำร้ายผู้เลี้ยง โดยเฉพาะรายย่อย รายเล็ก ที่จะหายไปจากระบบในที่สุด เพราะไม่สามารถแข่งขันได้  หรือแม้แต่รายใหญ่ก็อาจได้รับความเสียหายไปด้วย

 

เกษตรกรจี้รัฐล้างบาง “หมูเถื่อน” ขั้นเด็ดขาด “น้ำท่วม” ทุบซ้ำทำแทบหมดตัว