สัญญาณดี ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่3

08 ต.ค. 2565 | 19:23 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2565 | 18:22 น.
674

สัญญาณดี ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่3  เดือนกันยายนขยายตัว10.5% เนื่องจากในช่วงไตรมาส3ของปีนี้สินค้าหลายรายการที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเริ่มปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

หลังจากที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  แถลงตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ซึ่งแบ่งตามกิจกรรมการผลิต เดือนกันยายน 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 113.8 เทียบกับเดือนกันยายน 2564 สูงขึ้น10.5%จากการปรับสูงขึ้นของราคา หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 7.9% ตามต้นทุนการผลิตที่ทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

สัญญาณดี ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่3

แต่เป็นการสูงขึ้นในทิศทางที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่3 เนื่องจากในช่วงไตรมาส3ของปีนี้สินค้าหลายรายการที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเริ่มปรับราคาลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและความต้องการของตลาดโลกชะลอตัวจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน

 

 

โดยกลุ่มสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นเช่น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ  ๆ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้น74.5% จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้น 10.7% เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ยางพารา สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์จากการประมง

สัญญาณดี ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่3

ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตแบ่งตามขั้นตอนการผลิต พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้น4.6%  หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป)สูงขึ้น14.2%  และหมวดสินค้า วัตถุดิบสูงขึ้น 35.6%โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด → มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ อ้อย → น้ำตาลทรายดิบ → น้ำตาลทรายขาว และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ → น้ำมันเชื้อเพลิง/เม็ดพลาสติก → ผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามภาวะตลาดโลก

สัญญาณดี ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่3

“ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกันยายน 2565 สูงขึ้น 10.5% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะส่งผลให้ราคาขายปลีกสินค้าลดลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และการขนส่งที่อยู่ในระดับสูง จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน”

สำหรับแนวโน้มดัชนีผู้ผลิตในไตรมาส4ของปีนี้นั้น ยังคงมีแนวโน้มสูงแต่จะอยู่ในระดับที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส3 ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก อย่างไรก็ตามราคาสินค้าดังกล่างยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมดิบและก๊าชธรรมชาติ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีผู้ผลิตยังคงขยายตัว เช่น ต้นทุนการผลิต แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลงเล็กน้อยในช่วงก่อนหน้านี้  แต่ราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับปีก่อนรวมทั้งค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการนำเข้าที่ยังเพิ่มขึ้นจากค่าบาทที่อ่อนค่า และอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและส่งออก

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของหลายประเทศรวมทั้งแนมโน้มการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มน้ำมันของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปคในเดือนตุลาคมอาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการซึ่งกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของไทยได้ซึ่งสนค.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 5.5 - 6.5 (ค่ากลางร้อยละ 6.0) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย