"รฟม." โต้ องค์กรต้านโกง ปมประมูลสายสีส้ม หวั่นรัฐเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล.

05 ต.ค. 2565 | 20:23 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2565 | 03:29 น.
510

“รฟม.” แจงผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันค้านหนัก หวั่นรัฐเสียค่าโง่ 6.8 หมื่นล้านบาท ยันกระบวนการPPP โปร่งใส ปัดเอื้อเอกชนบางราย

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า กรณีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ค้านผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำภาครัฐเสียประโยชน์ 6.8 หมื่นล้านบาท นั้น การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ รฟม. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน

 

 

 

ขณะเดียวกันการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 ซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564

 

 


ทั้งนี้ในการดำเนินการตามประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการทำข้อตกลงคุณธรรมฯ สคร. ได้มอบหมายให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นองค์กรภาคเอกชนให้ดำเนินการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม

รายงานข่าวจากรฟม. แจ้งอีกว่า สคร. ได้แจ้งชื่อผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดย รฟม. และผู้สังเกตการณ์ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 และผู้สังเกตการณ์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทุกขั้นตอน

 

 

 

สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานผลการสังเกตการณ์ และในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตให้แจ้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว เพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่ผู้สังเกตการณ์กำหนด หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้ผู้สังเกตการณ์แจ้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อรายงานต่อ สคร. และกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้สำหรับกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้หากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้รับรายงานพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตจากผู้สังเกตการณ์ ก็สมควรที่จะนำส่งรายงานดังกล่าวให้ รฟม. สคร. และกระทรวงคมนาคม พิจารณาดำเนินการ

 

 

 

 ทั้งนี้ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวอ้าง น่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ข้อเสนอที่กล่าวอ้างจึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ตามลำดับ ประกอบกับเป็นซองข้อเสนอที่เปิดเป็นการภายในของเอกชนเอง ตัวเลขที่อ้างไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์กำหนด

 

 

 

ส่วนเอกชนรายดังกล่าวที่ได้เปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐ ที่อ้างว่าเป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ไม่ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซึ่งน่าจะเกิดจากความไม่พร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้เอกชนรายดังกล่าวได้มีการฟ้องศาลปกครองกลางและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ

ขณะเดียวกันที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการ PPP และตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ประกาศเชิญชวนฯ จึงไม่มีลักษณะตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ร้องมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่งผู้ร้องฯ สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกันกับเอกชนรายอื่น ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องฯ ดังกล่าว

 

 


นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (โจทก์) กับ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กับพวก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) รวม 7 คน (จำเลย) โดยศาลอาญาฯ ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันใช้ดุลพินิจแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เพื่อประโยชน์ของรัฐตามข้อเท็จจริง และตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ประกาศคณะกรรมการ PPP โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้ง 7 จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง ศาลอาญาฯ จึงพิพากษายกฟ้อง  

 

 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)