ชง “คนร.” เคาะปรับแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. ปั้นรายได้เดินรถ-บริหารทรัพย์สิน

04 ต.ค. 2565 | 15:58 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 23:05 น.

บอร์ด รฟท.เคาะปรับแผนฟื้นฟูกิจการ รุก 6 ยุทธศาสตร์ใหม่ จ่อชงคนร.-ครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ ลุยปั๊มรายได้เดินรถ ดึงบริษัทลูกร่วมบริหารทรัพย์สิน-ที่ดิน ดันเป้า EBIDA เป็นบวกภายในปี 76

นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาอนุมัติแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2566 – 2570 หรือแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังจากแผนฉบับเดิมที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ทางรฟท.ได้นำมาดำเนินการเห็นผลสำเร็จแล้ว อาทิ การลงทุนแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ รวมไปถึงการจัดตั้งบริษัทลูกอย่าง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ

 

 

 

ขณะเดียวกันภายหลังคณะกรรมการรฟท.อนุมัติแผนฟื้นฟูฉบับใหม่นี้ รฟท.เตรียมรายงานไปยังกระทรวงคมนาคมในเร็วๆ นี้ หลังจากนั้นจะเสนอไปยัง คนร.เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกำหนดในปี 2566 โดยเป้าหมายของแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ จะผลักดันให้การรถไฟฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายในปี 2576

 

 


สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่นี้ จะมุ่งเน้นการวางแผนธุรกิจเพื่อหารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดใช้ระบบรางทางคู่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งภายใต้แผนนี้ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน อาทิ การจัดหารถจักรเพื่อทดแทนและขยายกำลังการขนส่ง รวมทั้งการลดต้นทุนซ่อมบำรุงรักษาระบบรางด้วยการจ้างเหมา (Outsource) เพิ่มสัดส่วน Outsource งานบำรุงทางของเอกชนให้มากขึ้น
 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พลิกฟื้นธุรกิจหลัก อาทิ ขยายการขนส่งสินค้าในอุสาหกรรมที่มีศักยภาพ, บริการจัดหารขบวนรถโดยสารเพื่อลดการขาดทุน, พัฒนาขบวนท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น, การขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อวัตถุ เพิ่มลูกค้าในกลุ่มหีบห่อขนาดใหญ่และขยายพันธมิตรเอกชนให้มากขึ้น รองรับกับการขยายตัวของภาคขนส่ง, พัฒนาคุณภาพการบริการโดยสารและสินค้า รวมไปถึงบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง โดยจะเร่งสร้างรายได้จากการบริหารสัญญาเช่า ทรัพย์สินและที่ดิน เร่งดำเนินการในแปลงศักยภาพของสัญญาขนาดใหญ่, สนับสนุนบริษัทลูกในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ และพัฒนารูปแบบการสร้างรายได้เสริม (Non - core) อาทิ บริการอาหารเครื่องดื่ม จำหน่ายสินค้า หรือจับมือพันธมิตรจัดทำแพ็คเก็จท่องเที่ยว จำหน่ายพร้อมกับตั๋วรถไฟ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากขึ้น เป็นต้น

 

 


ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง โดยต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน ระบบทางคู่ที่ รฟท.ได้พัฒนาไปแล้วตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแรก โดยโมเดลขณะนี้จะศึกษาเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้ระบบราง เพื่อใช้งานโครงสร้างพื้นฐานนี้ให้มีประสิทธิภาพ ในช่วงที่ รฟท.ยังอยู่ระหว่างการจัดหาหัวรถจักรเพิ่มเติม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่จะเปิดกว้างให้เอกชนสามารถเข้ามาเช่าเดินรถในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของภาครัฐได้
 

“ขณะนี้รฟท. ยังอยู่ในช่วงจัดหาและซ่อมบำรุงหัวรถจักร เพื่อนำมาให้บริการใช้ระบบรางให้เต็มประสิทธิภาพ แต่ตามแผนจะต้องดำเนินการจัดซื้อเพิ่มเติมกว่า 100 คัน ปัจจุบันได้รับอนุมัติจัดซื้อแล้ว 50 คัน ตรวจรับมอบแล้ว 20 คัน ซึ่งจะทยอยรับมอบอีก 30 คัน คาดแล้วเสร็จภายใน ก.พ.2566 หากให้ประเมินการใช้ระบบรางอย่างเต็มศักยภาพ ส่วนตัวมองว่าจะต้องใช้หัวรถจักรมากถึงพันคัน ดังนั้นระบบรางของไทยยังมีศักยภาพรองรับการเดินรถได้อีกมาก”

 

 


ยุทธศาสตร์ที่ 5 ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู โดยส่วนนี้รฟท. จะเพิ่มสานงานด้านการตลาดโดยตรงในส่วนธุรกิจโดยสารและสินค้า เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้จะปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ด้านค่าล่วงเวลา OT และค่าทำงานวันหยุด พร้อมทั้งพัฒนาระบบบัญชีให้สามารถจำแนกแสดงประสิทธิภาพให้แต่ละกลุ่มธุรกิจชัดเจนขึ้นและยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model พัฒนาระบบรางด้วยนวัตกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นกระแสที่ทั้งโลกกำลังให้ความสนใจ และผู้ประกอบการทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ โดยในส่วนของรฟท. มีเป้าหมายที่จะปรับการให้บริการรถไฟบางขบวนจากเชื้อเพลิงดีเซลสู่การใช้พลังงานสะอาด หรือระบบไฟฟ้า (EV)