ความเหลื่อมล้ำ คนจน-คนรวย ประเทศไทย ห่างกี่เท่า กางเป้ารัฐแก้ช่วง 5 ปี

03 ต.ค. 2565 | 06:07 น.
3.7 k

เปิดข้อมูล ความเหลื่อมล้ำ คนจน-คนรวย ประเทศไทย ปัญหาใหญ่ที่กำลังกลายเป็นประเด็นทั่วโลก พบปัจจุบันตัวเลขยังคงห่างกันหลายเท่า ไปเช็ครายละเอียดของแนวโน้ม และทิศทางกันว่า ปัญหานี้จะถูกแก้ไขได้อย่างไร หลัง สภาพัฒน์ กางแผนฯ 13 ระดมแก้ใน 5 ปี

ปัญหาเรื่องของ ความเหลื่อมล้ำ กำลังกลายเป็นปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงของการเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกินเวลานานเกือบ 3 ปี 

 

จากรายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2565 หรือ World Inequality Report 2022 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย World Inequality Lab โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการทำงานของเครือข่ายนักวิชาการและนักวิจัยทั่วโลก ระบุว่า 

 


ในปี 2564 ทั่วโลกกำลังเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กำลังขยายช่องว่างห่างออกจากกันมากขึ้น กลุ่มที่รวยที่สุด 10% ของโลก ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมดกำลังครอบครอง 52% ของรายได้ทั้งหมดของโลก 

ขณะที่กลุ่มคนที่จนที่สุดกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือกว่า 2.5 พันล้านคน กลับครอบครองเพียง 8.5% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น โดยเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของทั้งโลกแล้วพบว่า กลุ่มที่รวยที่สุด 10% มีรายได้มากกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 5 เท่า 

 

ในส่วนของประเทศไทยเอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังคงเป็นหนึ่งเรื่องที่ยังน่าห่วง ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างประชุมประจำปี 2565 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ระบุตอนหนึ่งถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำว่า จริง ๆ แล้วความเหลื่อมล้ำมีอยู่หลายมติ ทั้งรายได้ โอกาสในการเข้าถึง และในเชิงพื้นที่

 

ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาในเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะทางด้านรายได้ ซึ่งระบบเศรษฐกิจปัจจุบันประเทศไทย ต้องเจอปัญหาการเข้าถึงโอกาสของคนที่ต่างกัน โดยการจะแก้ปัญหาช่องว่างของรายได้คนสูงให้ลงมาในทางปฏิบัติคงเป็นไปไม่ได้ แต่การทำให้คนที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้มากขึ้น สามารถสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นได้ 

 

“ปัญหาความเหลื่อมล้ำขณะนี้ พบว่า ช่องว่างของกลุ่มประชากรที่มีรายได้มากที่สุด 10% และรายได้ต่ำที่สุด 40% ในระดับล่าง ห่างกันอยู่ประมาณ 6 เท่า” นายดนุชา ระบุ

ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ จำเป็นต้องนำเรื่องการพัฒนาไปกระจายตัวในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ในระดับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น เพื่อลดช่องว่างให้แคบลง ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลา

 

เบื้องต้นมีแผนในการขยายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ควบคู่กับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้น รวมไปถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านกระบวนการยุติธรรมด้วย

 

นายดนุชา ระบุว่า ในกรอบการแก้ปัญหาดังกล่าว ได้ถูกกำหนดเอาไว้ในสาระสำคัญของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยตามแผนได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 เรื่อง เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ “พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ดังนี้

  1. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
  2. แนวคิด Resilience หรือความยืดหยุ่น
  3. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) 
  4. โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) 

 

ทั้งนี้ สศช. ได้ถ่ายทอดวัตถุประสงค์หลักข้างต้นออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 5 ประการ ประกอบด้วย

  1. การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 300,000 บาทต่อปี 
  2. การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ ให้ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) อยู่ในระดับสูง 
  3. มุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความแตกต่างของความเป็นอยู่ระหว่างกลุ่มประชากรต่ำกว่า 5 เท่า
  4. เปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับปริมาณปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 
  5. สร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่อง โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าทางดิจิทัล และประสิทธิภาพภาครัฐ
  6. การวางแผนทั้งหมดภายใต้การพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ก็เพื่อมุ่งหวังที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีสังคมก้าวหน้า และเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน