ข่าวดี ลำไยอบแห้งลำพูนได้ GI เวียดนามแล้ว

30 ก.ย. 2565 | 10:41 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 17:44 น.

 “ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน” ขึ้นจดทะเบียน GI ในเวียดนาม  คาดช่วยกระตุ้นการส่งออก เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่น พร้อมดันเป็น Soft Power สำคัญที่สู่สายตาชาวต่างชาติ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ล่าสุดเวียดนามได้ประกาศรับจดทะเบียน GI ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนของไทย ส่งผลให้ปัจจุบันไทยจดทะเบียน GI ในเวียดนามแล้ว 3 สินค้า โดยก่อนหน้านั้นเป็นเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานและมะขามหวานเพชรบูรณ์  

ข่าวดี ลำไยอบแห้งลำพูนได้ GI เวียดนามแล้ว

สำหรับลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน มีลักษณะเด่นของลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน มีสีเหลืองทอง เนื้อหนา แห้งสนิทไม่ติดกัน รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ สามารถเก็บไว้ได้นานโดยกลิ่นและรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวเวียดนาม

 

 

ทั้งนี้ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น เวียดนาม จีน ฮ่องกง  ถือว่าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนเป็นสินค้า GI ไทยลำดับที่ 8 ที่ได้รับการจดทะเบียน GI ในต่างประเทศ ต่อจาก ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ในสหภาพยุโรป  กาแฟดอยช้าง ในสหภาพยุโรป กาแฟดอยตุง ในสหภาพยุโรปและกัมพูชาข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในสหภาพยุโรป  เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ในเวียดนาม ผ้าไหมยกดอกลำพูน ในอินเดียและอินโดนีเซีย และ  มะขามหวานเพชรบูรณ์ ในเวียดนาม

ข่าวดี ลำไยอบแห้งลำพูนได้ GI เวียดนามแล้ว

“หลังจากขึ้นทะเบียน GI แล้วสินค้าดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ด้วยกระบวนการผลิตและระบบควบคุมคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน ทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาดี จากเดิมที่เคยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 550 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 1,500 บาท อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่ใช้ในงานประเพณีต่างๆ ของชาวลำพูน ลำไยจึงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกวิถีชีวิตความเป็นอยู่เคียงคู่คนลำพูนอย่างแท้จริง”

ข่าวดี ลำไยอบแห้งลำพูนได้ GI เวียดนามแล้ว

ทั้งนี้ การที่สินค้า GI ไทยได้รับการจดทะเบียน GI ในเวียดนาม ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทำให้ผู้บริโภคต่างชาติมั่นใจในคุณภาพสินค้า ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมผลักดันการจดทะเบียนสินค้า GI ไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร ซึ่งเป็น Soft Power สำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน