การบินไทย มั่นใจแผนฟื้นฟูใหม่ฉลุย เพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้าน ให้ผู้ถือหุ้นเดิม

31 ส.ค. 2565 | 11:09 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 18:59 น.
1.1 k

“ปิยสวัสดิ์” มั่นใจประชุมเจ้าหนี้ การบินไทย 1 ก.ย.นี้ โหวตผ่านแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ หลังแก้ไขแผนออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับเจ้าหนี้เดิม อย่างน้อย 2.5 หมื่นล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุน ล้างขาดทุนสะสม กลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปี68 คลัง-สหกรณ์หุ้นกู้ หนุนเต็มที่

ล่าสุดในวันที่ 1 กันยายน2565 การบินไทยจะมีการจัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณา แผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2565 ซึ่งแผนฉบับใหม่นี้การบินไทยมีความมั่นใจว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้

 

เนื่องจาก การบินไทย ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไว้หมดแล้ว ทั้งกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ต่างก็พร้อมสนับสนุนแนวทางดังกล่าว เพื่อหนุนให้การบินไทยมีส่วนทุนกลับมาเป็นบวกปี 2567 เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ได้เร็วกว่าแผนเดิม โดยเฉพาะเจ้าหนี้หุ้นกู้ และในปี 2568 การบินไทย ก็จะออกจากแผนฟื้นฟูและสามารถทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนเดิม ก็จะเป็นผลดีกว่า

แผนใหม่เป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นเดิม 

 

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ผมมั่นใจว่า เจ้าหนี้จะโหวตให้ผ่านแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู ได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ ที่มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ธนาคาร 2 แห่ง รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์มาโดยตลอด ซึ่งเจ้าหนี้ก็สนับสนุนแผนใหม่นี้

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

 

แผนฟื้นฟูการบินไทยฉบับแก้ไขใหม่  จะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นเดิม  เพราะในการฟื้นฟูกิจการบริษัทที่เข้าแผนฟื้นฟูโดยปกติ เขาจะลดส่วนของผู้ถือหุ้นลงแทบจะเหลือศูนย์ เช่น ราคาหุ้น อาจจะลงเหลือ 1 สตางค์ จากพาร์ 10 บาทลงมาเหลือ 1 สตางค์  แต่ในการฟื้นฟูในครั้งนี้ การบินไทยไม่ได้ทำแบบนั้น

 

เพียงแต่การบินไทย จะออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับเจ้าหนี้เดิม ในราคา 2.54 บาทต่อหุ้น ขณะที่แผนฟื้นฟูเดิมที่เจ้าหนี้เห็นชอบเมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเดิมเลย ส่วนของผู้ถือหุ้น สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมก็แทบจะลงมาเหลืออยู่ในระดับที่น้อยมาก ไม่มีการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม

 

แต่ในแผนฟื้นฟูใหม่นี้ การบินไทย ได้แก้ไขใหม่ว่าจะระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม เป็นเงินอย่างน้อย 25,000 ล้านบาท ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้สนับสนุนการบินไทยมาโดยตลอด

ปี67 ส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก

 

อย่างไรก็ตามแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ นี้ ระบุชัดเจนว่าการบินไทยจะเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

 

1.การบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก เนื่องจากไม่มีความคล่องตัว และไม่เหมาะสมกับธุรกิจการบิน ซึ่งมีการแข่งขันสูง

 

2.การแปลงหนี้เป็นทุน

 

3. การออกหุ้นใหม่เพิ่มทุน

 

ทั้งนี้ในขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังจะเพิ่มุทน เราประเมินว่ากระทรวงการคลังจะแปลงหนี้เป็นทุนทั้งก้อน และใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในฐานะผู้ถือหุ้น ก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย อยู่ที่ 32% และหากรวมกับรัฐวิสาหกิจในสังกัดอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐก็จะอยู่ที่ราว40%กว่า

การบินไทย มั่นใจแผนฟื้นฟูใหม่ฉลุย เพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้าน ให้ผู้ถือหุ้นเดิม

 

 

ทั้งนี้หากแผนฟื้นฟูกิจการนี้ผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลางแล้ว ก็จะสามารถมีการเพิ่มทุน ออกหุ้นใหม่เพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม แปลงหนี้เป็นทุนได้ต่อไป ซึ่งหากเป็นไปตามแผนนี้ มั่นใจว่าช่วงปลายปี2567 ส่วนผู้ถือหุ้นจะกลับมาเป็นบวกได้  ล้างขาดทุนจากในอดีต ที่ทำให้การบินไทยมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ 7 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งหากการบินไทยมี EBITDA (กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม) เกิน 2 หมื่นล้านบาทต่อปีตามแผนที่วางไว้ การบินไทยก็จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ในปี2568 พร้อมกับนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง

 

การบินไทย มั่นใจแผนฟื้นฟูใหม่ฉลุย เพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้าน ให้ผู้ถือหุ้นเดิม

 

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท การบินไทย นับจากมีการเปิดประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทำให้การบินไทย มีอัตราการบรรทุกเฉลี่ยจากเดิม 10-20% ปีที่แล้ว เพิ่มมาเป็น 50% ในเดือนกรกฏาคมปีนี้ และเดือนสิงหาคมนี้อยู่ที่ 80% โดยเฉพาะเส้นทางบินยุโรป จะสูงถึง 90%

 

ในส่วนของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารอยู่ที่ราว 500 คนต่อวัน เพิ่มมาเป็น 16,000 คนในเดือนกรกฏาคมปีนี้ และในเดือนสิงหาคมปีนี้เพิ่มมาเป็น 20,000 หมื่นคนต่อวัน(รวมผู้โดยสารของไทยสมายล์ 3,000 คนต่อวัน)

 

โดยในเดือนกรกฏาคมปีนี้ การบินไทยมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอยู่ที่ 9,600 ล้านบาท รวมกับไทยสมายล์อีก 1,000 ล้านบาท ถือว่าดีที่สุดนับจากเกิดโควิดมา แต่หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด วันนี้การบินไทยยังมีผู้โดยสารต่อวันอยู่ที่ 46% ของก่อนเกิดโควิด แต่ด้วยที่ผ่านมาการบินไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ทำให้ในช่วงไตรมาส 2  ปีนี้ การบินไทยมี EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน มีกำไร 168 ล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ และมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นนี้การบินไทยมีแผนที่จะกลับมาทำการบินเส้นทาง กรุงเทพ-มิลาน อิตาลี และกรุงเทพ-ออสโล นอร์เวย์ อย่างเร็วปลายปีนี้ และอย่างช้าต้นปีหน้า ส่วนตลาดตะวันออกกลางก็เติบโตดีมาก เตรียมจะเพิ่มความถี่เส้นทาง กรุงเทพ-เจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย จาก 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์

 

อีกทั้งภายในปีนี้การบินไทยจะเปิดรับพนักงานเอาท์ซอส อีก 600 คน จากปัจจุบันที่มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 14,400 คน เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานให้บริการภาคพื้น บริการคาร์โก้ และพนักงานครัว ซึ่งแผนฟื้นฟูเปิดทางให้การบินไทยรับพนักงานเพิ่มได้ โดยภายในสิ้นปี 2565 จะต้องมีจำนวนรวมไม่เกิน 15,000 คน ส่วนในปี 2566 สามารถรับเพิ่มได้อีกตามความจำเป็น รวมทั้งจะต้องเช่าเครื่องบินเพิ่มอีก 3 ลำ เพื่อรองรับกรณีจีนเปิดประเทศ จากปัจจุบันมี 68 ลำ

 

คลัง-สหกรณ์หุ้นกู้พร้อมหนุน

 

ล่าสุดชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด มีขอให้พิจารณาโหวตในการประชุมเจ้าหนี้บมจ.การบินไทย วันที่ 1 กันยายน 2565 ดังนี้ 1. เห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของผู้บริหารแผน2. เห็นชอบลงคะแนน ให้ "ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด" เจ้าหนี้ลำดับที่ 2263 เป็น"กรรมการเจ้าหนี้" แทนกรรมการเจ้าหนี้ที่เสียชีวิต

 

การบินไทย มั่นใจแผนฟื้นฟูใหม่ฉลุย เพิ่มทุน 2.5 หมื่นล้าน ให้ผู้ถือหุ้นเดิม

 

ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการการลงทุนในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) เผยว่า ในส่วนเกี่ยวกับสหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทยนั้น ในประเด็นแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนั้น แม้กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจคพช. ดำเนินการได้ แต่หากเป็นคำสั่งศาลให้ปฎิบัติตามคำสั่งศาล ซึ่งในทางปฎิบัติสหกรณ์เจ้าหนี้อาจจะนำเสนอแผนให้ศาลพิจารณาและอาจจะนำเสนอเรื่องแปลงหนี้เป็นทุนไปในคราวเดียวกัน หากศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการได้ก็เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล

 

“กฎหมายของสหกรณ์ไม่สามารถจะดำเนินการในลักษณะแปลงหนี้เป็นทุนและอำนาจคพช.ก็ไม่อนุญาต ส่วนที่ผ่านมาคพช.เห็นชอบให้สหกรณ์เจ้าหนี้ลงทุนเพิ่มในการบินไทยตามมาตรา62(7) เป็นการเห็นชอบให้ลงทุนซื้อหุ้นการบินไทยได้ไม่เกินสัดส่วนเดิม”

 

สอดคล้องแหล่งข่าวจากสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า ไม่ขัดข้องตามแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยเสนอ แต่การประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูในวันที่ 1 ก.ย.2565 นั้น การบินไทยจะแก้ปัญหาเรื่องหุ้นกู้จะชำระเป็นหุ้นสามัญแทนในราคาปัจจุบัน คือ เปลี่ยนหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญ ซึ่งหากการบินไทยไม่เอาเปรียบบรรดาเจ้าหนี้ก็เห็นชอบการแปลงหนี้เป็นทุน

 

ที่ผ่านมาพูดถึงเรื่องหุ้นกู้เดิมที่ลงทุนไปก่อนหน้า แต่กระบวนการนี้ต้องขึ้นอยู่กับระเบียบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์  หากกรมส่งเสริมฯไม่ขัดข้องเราก็ทำได้ ทั้งนี้ สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทยมีมูลหนี้รวมประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เดิมชสอ.เสนอคพช.ต้องการลงทุนในหุ้นกู้เพื่อเพิ่มทุนและแปลงหนี้เป็นการลงทุนในหุ้นสามัญ

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเพิ่มทุนของบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) โดยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าหลังการบินไทยได้ยื่นศาลล้มละลายกลาง แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ เพื่อปรับรายละเอียดการจัดหาแหล่งทุนใหม่ กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนแผนฟื้นฟูฯ เพื่อให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้โดยเร็ว และกลับเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เร็วที่สุด

 

การแปลงหนี้เป็นทุนนั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่กระทรวงการคลังต้องทำ เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ ไม่ให้ต่ำกว่า 40% ซึ่งเป็นหลักการเดิมของกระทรวงการคลังอยู่แล้ว ขณะที่การเติมสินเชื่อใหม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับแบงก์รัฐให้เข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งพิจารณาในเรื่องของการเพิ่มทุนด้วย ซึ่ง

 

ตอนนี้กระทรวงการคลัง ซึ่งรวมถึง ธนาคารออมสิน กองทุนวายุภักษ์ และ เอ็กซิมแบงก์ ถือหุ้นในการบินไทยรวมกันประมาณกว่า 40% ถ้าเราไม่แปลงหนี้เป็นทุน และเพิ่มทุน หุ้นเราจะไดรูทลงมา เราก็คิดว่า เรารับไม่ได้ เพราะในขณะที่คนอื่นแปลงเราไม่ได้แปลง หุ้นจะไดรูทลง นายอาคม กล่าวทิ้งท้าย

 

อย่างไรก็ตามในการใส่เงินเพิ่มทุนหรือแปลงหนี้เป็นทุน กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยต้องใช้เวลาดำเนินการกว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในปี2568 ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องรอ 3 ปีกว่าที่จะกลับมาซื้อขายหุ้นได้อีกครั้ง