ดร.นงนุช อธิพันธุ์อำไพ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ Absolute Plant กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดอาหารเหลือทิ้ง หรือลดการใช้ทรัพยากรในวงจรการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม จากประสบการณ์ของบริษัท Global Food Trading ในการเสวนาออนไลน์ Virtual Forum Innovation Keeping the World : Rethink Recover นวัตกรรมรักษ์โลก จัดโดยเครือเนชั่น ว่า Global Food Trading ทำธุรกิจส่งออกอาหารทั้งข้าว ผักผลไม้ อาหารแช่แข็ง มากว่า 30 ปี กระทั่งปัญหาสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนเริ่มเด่นชัดขึ้น จึงเริ่มศึกษาวิจัยปัญหาในวงจรธุรกิจอาหารขึ้นหลายชิ้น
เราพบว่าอาหารแพลนท์เบส มาส่วนช่วยลดโลกร้อนได้เมื่อเทียบกับการผลิตอาหารตามแนวทางดั้งเดิม โดยช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-60 % เมื่อเทียบกับการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ ที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งกระบวนการ ทั้งการทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่มาทำปศุสัตว์ การสร้างก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอาหารสัตว์ ลดการปล่อยของเสียในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารจากพืชมีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม
ดร.นงนุช กล่าวอีกว่า การผลิตอาหารแพลนท์เบสยังมีส่วนช่วยลดอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งจะกลายเป็นขยะที่สร้างคาร์บอนในกระบวนการย่อยสลายหรือในการกำจัด ยกตัวอย่างหอยจ๊อปูแพลนท์เบส ผลิตจากขนุนที่เป็นของเหลือจากกระบวนการผลิตแล้ว นำมาสับให้เป็นเส้นใย แล้วผสมกับส่วนประกอบอื่นและเครื่องปรุงรส เพื่อให้มีรูปลักษณ์เป็นหอยจ๊อปูที่ผลิตจากพืช โดยใช้องค์ความรู้ด้านโภชนาการ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วนและใกล้เคียงกับของเนื้อสัตว์จริง
อีกตัวอย่างคือ กะเพราก้อนแช่แข็ง เกิดจากสังเกตเห็นพฤติกรรมการซื้อผักเช่นกะเพราที่ขายเป็นกำ ซึ่งใช้ไม่หมดในมื้ออาหาร เหลือเก็บจนกลายเป็นของเหลือทิ้งในตู้เย็น จึงนำมาเป็นโจทย์คิดค้นการใช้งานกะเพราที่ไม่เหลือทิ้งในรูปกะเพราก้อนแช่แข็ง เก็บได้นานนับปี เมื่อจะใช้นำออกมาวางให้คลายตัวเป็นใบกะเพราเหมือนเดิม เป็นการใช้เทคนิคการลวกและแช่แข็งเกิดเป็นนวัตกรรมที่่ช่วยแก้ปัญหา
ดร.นงนุชชี้อีกว่า มีการศึกษาประชากรโลกจะเพิ่มอีก 1,000 ล้านคนใน 10 ปี ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายโลกว่าจะผลิตอาหารอย่างไรให้เพียงพอ ขณะที่ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มในการจะผลิตอาหารเพิ่มดังกล่าว ซึ่งมีปัญหาว่าจะมีพอหรือไม่ จึงคาดการณ์ว่าแพลนท์เบสจะเติบโตเป็น 2 เท่าใน 5 ปี และเทคโนโลยีอาหารจะก้าวต่อไปไม่หยุด
"ล่าสุดเราจับมือกับสวทช. ศึกษาเรื่องไมโครโปรตีน หรือการผลิตโปรตีนจากจุลินทรีย์ โดยการใช้น้ำตาลเลี้ยงจุลินทรีย์ ให้ผลิตเส้นใยและโปรตีน เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารอีกทอดหนึ่ง เช่น เบอร์เกอเนื้อจากจุลินทรีย์ ซึ่งกระบวนการผลิตไมโครโปรตีนนี้ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าแพลนท์เบสได้ 40 เท่า
ในกระบวนการเลี้ยงจุลินทรีย์เพื่อสร้างไมโครโปรตีนนั้นใช้น้ำตาล ซึ่งอาจทดแทนด้วยกากอ้อย ผักผลไม้ที่มีความหวานทดแทน ซึ่งจะช่วยลดอาหารเหลือทิ้งหรือของเหลือภาคเกษตร รวมทั้งช่วยแก้วิกฤตอาหารในอนาคตได้อีกทางด้วย
ดร.นงนุชย้ำว่า เรื่องของความมั่นคงและยั่งยืนทางอาหารนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น แต่เรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นเทคโนโลยีทั่วไป หากร่วมกันใส่มุมมอง หรือหาวิธีการเพื่อลดของเหลือทิ้ง ลดการใช้ทรัพยากร ก็สามารถสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยการดูแลโลกได้