สายการบิน-สนามบินอ่วม"กพท."จ่อเก็บค่าบริการเพิ่ม

24 พ.ค. 2565 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2565 | 19:47 น.
1.8 k

สายการบิน-สนามบินอ่วม "กพท."จ่อเก็บค่าธรรมเนียมบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงกฎหมายพ.ร.บ.เดินอากาศปี2562 ฉบับแก้ไข คาดมีผลบังคับใช้จริงในปี 66

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ (กพท.)หรือ CAAT  ระบุว่า เตรียมปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการให้บริการกับผู้ประกอบการการบินพลเรือนของประเทศไทย ทั้งในส่วนของสายการบิน สนามบิน หน่วยงานควบคุมจราจรทางอากาศ อุตุนิยมวิทยา โรงเรียนการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน 

เนื่องจากที่ผ่านมา กพท. ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือ ใบรับรองตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ที่ชัดเจน ขณะที่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบรับรองเดิมใช้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นอัตราไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันปรับขึ้นเช่นกัน

 

ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่จะมีการเรียกเก็บครั้งแรก ได้แก่

 

  • ใบรับรองผู้ดำเนินการ เดินอากาศ ภายในประเทศ น้ำหนักวิ่งสูงสุดตั้งแต่ 5,700 กิโลกรัม (กก.) ขึ้นไป ออกครั้งแรก ราคา 2.46 ล้านบาท หากบินในภูมิภาคเอเชีย ออกครั้งแรก 5.56 ล้านบาท หากบิน ภูมิภาคอื่นๆ ราคา 7 ล้านบาท 
  • เครื่องบิน น้ำหนักวิ่งสูงสุดไม่เกิน 5,700 กก. ภายในประเทศ ออกใหม่ 1.23 ล้านบาท แต่หากบินต่างประเทศ หรือภูมิภาคอื่น สูงสุดราคาประมาณ 3.5 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์ภายในประเทศ น้ำหนักขึ้นสูงสุดตั้งแต่ 3,192 กก. ออกครั้งแรก 2 ล้านบาท 

 

  • ค่าธรรมเนียมสนามบิน โดยเฉพาะใบจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ อาทิ ระบบไฟฟ้าสนามบิน ถุงลมบอกทิศทาง จากเดิม 1,000-3,000 บาท เป็น 40,000 บาท จะส่งผลกระทบ ต่อสนามบินของกรมท่าอากาศยาน 29 แห่ง เนื่องจากที่ผ่านมา มีรายได้ไม่มาก และยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากคิดค่าธรรมเนียมใหม่ 29 สนามบิน จะจ่ายสูงถึง 19 ล้านบาท

 

นอกจากนี้กพท.ยังเตรียมปรับขึ้น ค่าธรรมเนียมบริการอื่นๆ อาทิ ใบรับรองการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ฉบับละ 1 ล้านบาท ใบรับรองสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน รวมถึงการรับรองหลักสูตรการฝึกอบรม 1 หลักสูตร สำหรับนักบิน ฉบับละ 1 แสนบาท 


ทั้งนี้กพท.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย แสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ กพท. ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม2565  โดยคาดว่าจะเริ่มจัดเก็บในอัตราดังกล่าวได้ในปี 2566