ททท.เปิดฉากพลิกโฉมท่องเที่ยวยกกระดาน

19 พ.ค. 2565 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 23:13 น.

ผู้ว่าททท. เชื่อไทยผ่านจุดต่ำสุดของการท่องเที่ยว ตั้งเป้าปีนี้ฟื้นรายได้ท่องเที่ยว 1.5ล้านล้านบาท ปูทางพลิกโฉมท่องเที่ยวมิติใหม่ เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพไม่สนปริมาณ พร้อมดึง BCG โมเดลดันท่องเที่ยวเที่ยวยั่งยืน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ผู้ประกอบการและผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเริ่มยิ้มได้ หลังจากวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับภาคการท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วนต่อ GDP ประมาณ 18%  ในปี2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว39.92 ล้านคน ขณะเดียวกันการเดินทางในประเทศสูงถึง 172ล้านคน/ครั้งซึ่งในเวลาดังกล่าวประเทศไทยมีรายได้รวมกันประมาณ 3 ล้านล้านบาท 

 

แต่หลังจากการเข้ามาโควิด-19 ในปี2563นำไปสู่การปิดน่านฟ้าของประเทศไทยในเดือนเมษายนตัวเลขการท่องเที่ยวก็ลดลงเพราะคนเดินทางไม่ได้ ในขณะเดียวกันมาตรการควบคุมโรคทำให้เกิดข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายคนและการรวมคนจำนวนมาก แน่นอนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

และในปี 2564 ประเทศไทยเจอการระบาดระลอกหลายระลอกแม้จะมีการเปิดประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็ตามแต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งปีเหลือแค่ 4แสนคน จาก 39.92ล้านคน 

 

“สถานการณ์ตอนนั้นต้องบอกว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมาก ไฟท์บินลดลงการเข้าพักโรงแรมหายไป เราเคยประมาณการจุดวิกฤตหรือจุดต่ำสุดที่จะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้อยู่ที่ 28 %พอเราเริ่มปิดประเทศตัวเลขอยู่ในระดับ 3-10 %เท่านั้น ซึ่งรัฐบาลพยายามออกมาตราการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ เช่นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำซึ่งตอนนี้มีการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 7.8 พันราย มันอาจจะไม่เยอะแต่อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้เขาอยู่ได้”

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีมาตราการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวเช่น โครงการกำลังใจ ที่เปิดโอกาสให้อาสาสมัครที่รับมือกับโควิดในแต่ละพื้นที่  มีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ผ่านบริษัทนำเที่ยวซึ่งเป็นการช่วยเหลือบริษัทท่องเที่ยวในอีกทางหนึ่งด้วย ตามมาด้วย “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งตอนนี้เดินทางมาถึงเฟส 4 และอีกหนึ่งโครงการคือ “ทัวร์เที่ยวไทย” 

 

“เราใช้งบประมาณสำหรับโครงการเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 3หมื่นล้านบาท ซึ่งลงไปถึงผู้ประกอบการด้วยไม่เฉพาะพี่น้องคนไทย ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการขับเคลื่อนในช่วงเวลาขณะนั้นนอกจากการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการท่องเที่ยวแล้วการดำเนินการต่างๆก็อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทยเราไม่สามารถที่จะปิดประเทศไม่สามารถที่จะทำให้ไม่เกิดการเคลื่อนย้ายคนได้ เพราะเมื่อเกิดการเดินทางก็จะเกิดการใช้จ่าย เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้เศรษฐกิจพื้นที่ฟื้นก็ต้องเอาคนเข้าไปไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่จะทำยังไงพี่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนในพื้นที่เกิดความปลอดภัยจึงได้เกิดแนวความคิดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวหรือพื้นที่สีฟ้าซึ่งไม่ใช่แค่การอนุญาตให้ผู้ประกอบการกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ แต่หลักเกณฑ์การเปิดพื้นที่สีฟ้านั้นจะต้องผ่านเกณฑ์การประเมินเรื่องมาตรการควบคุมโรคจากกระทรวงสาธารณสุขด้วย 

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานSHA เพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการด้วย ปัจจุบันนี้มีสถานประกอบการท่องเที่ยวมากกว่า 4.7 หมื่นแห่งที่ได้รับมาตรฐานSHAเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามที่จะช่วย เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่งการท่องเที่ยวจะต้องกลับมาแต่รัฐบาลต้องมั่นใจว่าคนไทยปลอดภัยและจะมีผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยได้รับประโยชน์จากการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง”


 

ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเป็นช่วงที่ดีในการปรับตัว และรัฐบาลเองก็ต้องการพลิกโฉมประเทศไทยในทุกมิติซึ่งรวมถึงเรื่องการท่องเที่ยวด้วย เบื้องต้นมีการตั้งเป้ารายได้ 50 % หรือ1.5ล้านล้านบาทเพื่อทำให้เครื่องยนต์ท่องเที่ยวกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤตโควิด และในปี2566 ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยว 80% หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท  และตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว50%จากสถานการณ์ปกติ 

 

“เราตั้งเป้าจำนวนนักเดินทางแค่ครึ่งนึงพอไม่ต้องมาเยอะแต่เราต้องการคนคุณภาพ หมายความว่าจากนี้ไปเราต้องการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีการจัดเซกเมนต์นักท่องเที่ยว 4-2-2 คือ 4 Personas (ประชากรโลกผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) 2 Demographic (Millennials และ Active Senior) และ 2 Behavior (Medical & Wellness และ Responsible Tourism)  กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง  เที่ยวบ่อย พักนาน ใช้จ่ายเยอะ แต่ขณะเดียวกันต้องบวกในแง่ของมีใจรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและมีจิตสำนึกที่ดีและมีใจกลับมาเมื่อมีโอกาส

 

นอกจากนี้ยังนำโมเดล BCG มาใช้ในการฟื้นเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวบน 2 ขา หนึ่งคือในเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างมีความยั่งยืน

 

“สิ่งที่รัฐบาลอยากจะเห็นและททท.รับนโยบายมาคือการพลิกโฉมอย่างจริงจัง เพราะเราต้องยอมรับว่าก่อนที่จะเจอโควิดมีปัญหาระดับหนึ่งที่ทุกคนพูดถึงความยั่งยืนแต่ยังไปไม่ถึง เราก็ใช้โอกาสนี้ในการที่จะปรับเปลี่ยน อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการคิด  เมื่อก่อนเรามี product ที่ดีเราก็เอามาขาย แต่จากนี้ไปเราต้องรู้ว่านักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์แบบไหน เราซัพพอร์ตได้มากขนาดไหน เรามั่นใจว่าภายใต้การนำของรัฐบาลภายใต้การร่วมมือของผู้ประกอบการสิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นแน่นอนก็คือเรื่องของการพลิกโฉมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้นำไปสู่ความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ”