ท่องเที่ยวสุดทนร้องนายกประยุทธ์ทบทวนรีดภาษีที่ดิน100%

27 เม.ย. 2565 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 23:49 น.
1.1 k

17 สมาคมท่องเที่ยวส่งหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ชง 3 ข้อเสนอบรรเทาความเดือดร้อนจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ภายใต้ผลกระทบโควิด-19 ยัน “ภาษีที่ดิน” 100% ธุรกิจไปต่อไม่ได้ วอนขอให้ทบทวนลดหย่อนจัดเก็บภาษีออกไปอีก 2 ปี

จากนโยบายที่กระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ในอัตรา 100% ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจยังไม่มีรายได้เข้ามาเพียงพอที่จะชำระภาษีดังกล่าวได้เต็มอัตรา เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาร่วม 2 ปีกว่าแล้ว และปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยรวมเพิ่งจะฟื้นตัวกลับมาราว 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าการระบาด

ดังนั้นธุรกิจยังขาดสภาพคล่องและประสบปัญหาการขาดทุนมาต่อเนื่อง ทำให้การต้องแบกรับการจ่ายภาษีที่ดินในเวลานี้ จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ภาพรวม มากถึง 93.6% ล่าสุดผู้ประกอบการท่องเที่ยวรวมกว่า 17 สมาคม อาทิ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหลายจังหวัด อาทิ กระบี่ ภูเก็ต พังงา สุราษฎ์ธานี สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ขอให้พิจารณาทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเรียกร้อง 3 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการจัดเก็บภาษีที่เกิดขึ้น ได้แก่

 

1.ขอให้ลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 และปี 2566 ร้อยละ 90 (เหมือนปี 2564)สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม

 

2.ขอให้ยกเว้น เบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่ผู้ที่ได้ค้างชำระการจ่ายภาษีโรงเรือน ตามพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2562 โดยละเว้นให้จนถึงปี 2565 นี้

 

3.ขอให้อนุญาตให้มีการขยายระยะเวลาชำระภาษีที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2562 ที่เรียกเก็บในปี 2565 และ ปี 2566 โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.2567 โดยไม่คิดเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม

 

ร้องนายกฯทบทวนรีดภาษีที่ดิน100%

ทั้งนี้เอกชนมีความเข้าใจในความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศตามแผนพัฒนา แต่เอกชนก็จำเป็นต้องเรียกร้องขอให้รัฐช่วยในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป เมื่อยามที่การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวมากขึ้นในปี 2566 นี้

 

เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องประคับประคองต่อสู้กับผลกระทบจากโควิด-19 มายาวนานตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันและจะส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจไปอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยรวมฟื้นตัวกลับมาประมาณ 15% เมื่อเทียบกับปี2562 การฟื้นตัวยังอยู่ในสภาวะที่ไม่ทั่วถึง จะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงต้องรอให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าต่อวันเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

 

อีกทั้งที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวยังคงปิดตัวมากกว่า 60% และส่วนที่ยังคงเปิดดำเนินการมากกว่า 90% ประสบภาวะขาดทุนในการดำเนินธุรกิจอยู่ ซึ่งการที่รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วย ภาษีบำรุงท้องที่ โดยออกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ในวันที่ 9 มีนาคม 2562 นั้น ใจความหลักของการเรียกเก็บภาษีรูปแบบเดิม (พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475)คือคำนวนภาษีบนพื้นฐานของการนำที่ดินไปประกอบธุรกิจ หากที่ดินสามารถนำไปหารายได้มากก็เก็บมาก และหากหารายได้ไม่ได้ก็เก็บน้อยหรือไม่เก็บเลย หากมีการปิดกิจการเพราะเหตุจำเป็น

 

แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บเป็นแบบใหม่ คือ การเก็บตามมูลค่าของทรัพย์สิน โดยคำนวณภาษีตามราคาประเมินของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมิได้คำนวณตามศักยภาพการนำที่ดินไปประกอบธุรกิจเช่นในอดีต ทางภาคเอกชนเข้าใจถึงเจตนาดีในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวแก่ประเทศชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อยามเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางใน 3 ข้อดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น                      

 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสมาคมโรงแรมได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของภาคธุรกิจโรงแรม เพื่อต่อลมหายใจให้ธุรกิจดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จนกว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ เพราะวันนี้ธุรกิจโรงแรมมีปัญหาสภาพคล่องอยู่ จากผลสำรวจในเดือนมี.ค.65 พบว่าโรงแรมกว่า 44% มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น

 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

 

นอกจากนี้ธุรกิจยังมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนด้านสาธารณสุข และบางส่วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมยังไม่สามารถพลิกฟื้น เนื่องจากการขาดรายได้ ขาดทุนระยะยาว และยังคงต้องแบกภาระหนี้ที่เกิดจากวิกฤตโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

โรงแรมเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์สูงหากเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น แต่โรงแรมยังคงมีรายได้ต่อปีน้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก หากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% โดยไม่ได้นำการขาดรายได้ของธุรกิจโรงแรมมาร่วมพิจารณา จะทำให้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลายเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง และยังคงอยู่ในสภาวะขาดทุนอาจนำไปสู่การเลิกจ้างและเลิกกิจการได้