ตลาดหลักทรัพย์ MAI แนะ 5 หลักการดำเนินธุรกิจยั่งยืน

24 เม.ย. 2565 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2565 | 17:17 น.

MAI แนะนำ 5 หลักการ ดำเนินธุรกิจยั่งยืน ขณะที่ กระทรวงทรัพย์ ย้ำ "ความยั่งยืน" ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ด้าน วิศวะ จุฬาฯ เปิดตัวหลักสูตรใหม่ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน รองรับความท้าทายการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI กล่าวว่า แนวโน้มการเกิดวิกฤติสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงและบ่อยมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการ ควรมีหลักการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ 

  1. การทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ยึดหลักบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นพื้นฐานขององค์กรที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน เช่น การบริหารงาน ความโปร่งใส หรือการมีระบบการบริหารจัดการที่ดี 
  2. การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม 
  3. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ เช่น เรื่องของสิ่งแวดล้อม โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (technology disruption) 
  4. การนำนวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตและรายได้ 
  5. การบริหารจัดการความเสี่ยงในรอบด้านเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้  

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ คือ การพัฒนาทั้งกลุ่มบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน  กลุ่มผู้ลงทุนโดยการให้มีข้อมูล เครื่องมือ และความเข้าใจในการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (responsible investment) และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในตลาดทุน (intermediaries) ให้มีข้อมูล ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ นอกจากนี้ ยังมีการทำ Life platform ที่มีการรวมพาร์ทเนอร์มาร่วมกันสนับสนุนและใช้จุดแข็งของแต่ละภาคส่วนมาสนับสนุน SMEs หรือ Startup ที่อยู่ในตลาด

ชญานันท์ ภักดีจิตต์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ควรปลูกฝังการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับเด็ก ๆ โดยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแผนที่จะดำเนินการร่วมมือกับทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปสู่การนำไปใช้จริงโดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (learning by doing) นอกจากนี้ จากการประชุม COP26 ที่ได้มีการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จึงเริ่มมีการผนวกประเด็นเหล่านี้เข้าสู่การวางนโยบายและเเผนระดับชาติด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งผลักดันการดำเนินการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นความท้าทายและต้องการการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการดูแลป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ การเพาะปลูกผลผลิตที่มีราคาสูงและปล่อยมลพิษต่ำ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและความรู้ที่ถูกต้องให้กับสังคม อันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาแบบไฮบริด “Innovation towards Sustainability | Global Crisis Now เมื่อโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤต...คิด ทำ นำสู่ความยั่งยืน” เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้กับคนในสังคมเพื่อการพัฒนาที่มุ่งสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง พร้อมเปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability) หรือ หลักสูตร IES ภายใต้แนวคิด “Innovation towards Sustainability การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ตลาดหลักทรัพย์ MAI แนะ 5 หลักการดำเนินธุรกิจยั่งยืน

รศ.ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ รักษาการประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า การเปิดหลักสูตรดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในการ (1) สร้างบุคลากรที่มีความเข้าใจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน (2) ประยุกต์และบูรณาการศาสตร์ทางวิศวกรรมและนวัตกรรมสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการเติบโตอย่างสมดุล (3) สร้างฐานข้อมูลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ตลอดจนเครือข่ายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และ (4) สนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน

 

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง การผลักดันหลักสูตร IES ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น ในการเลือกเรียนรายวิชาให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายให้หลักสูตร IES เป็นหลักสูตรนำร่องในการสร้างแพลตฟอร์ม PIES ที่จะรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการและเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

ตลาดหลักทรัพย์ MAI แนะ 5 หลักการดำเนินธุรกิจยั่งยืน
รายละเอียดของหลักสูตร IES ซึ่งมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ทั้งรูปแบบออนไลน์ การเรียนการสอนในห้องเรียน และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง และความพิเศษของหลักสูตรนี้ คือ เปิดกว้างสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกหลักสูตรที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแรกเริ่มหลักสูตร IES นี้ จะเน้นการเรียนการสอนนอกเวลาทำการในช่วงเย็นวันธรรมดา และวันเสาร์หรืออาทิตย์ ทำให้ผู้ที่ทำงานประจำสามารถเรียนได้ ดำเนินการสอนโดยคณาจารย์จากหลากหลายคณะทั้งจากภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่จะเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริง ผู้ที่สำเร็จจากหลักสูตรนี้สามารถทำงานเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความยั่งยืนในองค์กรธุรกิจ หรือการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กร ในองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งช่วยส่งต่อความรู้ความเข้าใจสู่สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา และทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างบุคลากรจากหลากหลายสาขา นำไปสู่การเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศที่จะสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

ด้านดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลักสูตร IES เป็นหลักสูตรที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดีขึ้น ซึ่งมี 2 กุญแจหลัก สิ่งแรกคือ นวัตกรรม (innovation) ที่จะเป็นตัว switch port ของธุรกิจ และสิ่งที่สองก็คือ ภาวะผู้นำ (leadership) ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับกรอบความคิด (mindset) ของคน ในเรื่องของความเชื่อและการผลักดันให้กลายเป็น culture โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเป็น partnership และ platform ซึ่งหลักสูตรนี้ก็ใช้หลักการเดียวกัน ในการเติมความกว้างและการทับซ้อนระหว่างศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสร้าง ecosystem เพื่อรองรับธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถปรับตัวร่วมกับบริษัทใหญ่และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืนได้