สภาองค์กรของผู้บริโภค และภาคีโคแฟค ประเทศไทยจัดเวทีเสวนาออนไลน์ “นักคิดดิจิทัล ร่วมหาทางออกแก้ปัญหามิจฉาชีพยุค 5G” เสนอปัญหาฉ้อโกงผู้บริโภคผ่านเอสเอ็มเอสและระบบโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้นในทุกปี และร่วมกันเรียกร้องให้ภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแลเร่งบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พร้อมออกมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมดูแลตรวจสอบผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัด
ทั้งยังต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นข้อความเตือนให้ระวังมิจฉาชีพก่อนโอนเงิน และเร่งสร้างความตระหนักรู้เตือนภัยแก่ผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึง เปิดช่องทางที่ร้องเรียนให้มากขึ้นพร้อมป้องกัน แก้ไข ระงับปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน
ดังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศทั่วโลกให้ความตระหนักและคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดมาตรการ พร้อมเร่งแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
แต่หน่วยงานหลักในการกำกับดูแลยังขาดมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้น ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) และธนาคารแห่งประเทศไทย
นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ปัญหามิจฉาชีพยุคดิจิทัลและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นมากในปัจจุบันนั้น ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องการขับเคลื่อนปัญหาดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าขั้นวิกฤติ
โดยมีข้อมูลของลูกค้าองค์กรระดับชาติและระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนหลุดออกมา รวมถึงการที่หลายองค์กรนำข้อมูลของลูกค้าออกมาขาย ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ให้เห็นอยู่ทุกวัน แม้ว่าโลกดิจิทัลจะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย แต่ก็นำมาซึ่งการหลอกลวง ฉ้อโกงได้เช่นกัน ดังนั้น การร่วมมือกับหลายภาคส่วนในเวทีเสวนาครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะระดมความคิดเพื่อเร่งแก้ปัญหามิจฉาชีพเหล่านี้ให้ได้อย่างเป็นระบบ
“ปี 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รวบรวมคนกว่า 4,000 คนเข้าเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้เดินหน้าการเรียกร้องต่อมายังปีนี้ เพื่อให้ปัญหาผู้บริโภคถูกหลอกลวงในระบบโทรคมนาคมเบาบางลง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งนี้ กลโกงที่ถูกพัฒนาขึ้นก็มักก้าวนำการรู้เท่าทันของผู้บริโภคอยู่เสมอ จึงเป็นหน้าที่หลักที่สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันในเรื่องราวเหล่านี้โดยเร็ว
ซึ่งเราต้องการเห็นแนวทางแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ เพราะที่ผ่านมาได้นำเสนอปัญหาไปแล้วแต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงอยากให้รีบเร่งหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว ”
ทั้งนี้ จากการสำรวจของฝ่ายนโยบายและนวัตกรรมของสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 – เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,130 คน สามารถสรุปคำนิยามของปัญหาเอสเอ็มเอสในปัจจุบันออกเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย หนึ่ง เอสเอ็มเอสกวนใจหรือการได้รับเอสเอ็มเอสบ่อยครั้งทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิก สอง เอสเอ็มเอสกินเงินหรือการรับเอสเอ็มเอสหรือสมัครสมาชิกโดยไม่รู้ตัว และสาม เอสเอ็มเอสหลอกลวงหรือการได้รับเอสเอ็มเอสแอบอ้างที่ส่งมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและมักแอบอ้างหน่วยงานใหญ่ ๆ ทั้งภาครัฐและอกชน ที่มักมาในรูปแบบเอสเอ็มเอสให้กู้เงินหรือการแจ้งสถานะบัญชี รวมถึงการชักชวนให้เล่นการพนัน
นอกจากนี้ที่พบบ่อยครั้งคือการกดดันให้ผู้บริโภคตอบรับซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคสูญเสียข้อมูลความเป็นส่วนตัวหรือทรัพย์สิน การสำรวจยังระบุอีกว่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภคมักเจอกับปัญหาเอสเอ็มเอสมากที่สุดคือ เอไอเอส ร้อยละ 51.6 ตามมาด้ายทรู ร้อยละ 36.3 ตามมาด้วยดีแทค ร้อยละ 31.3 และเอ็นที ร้อยละ 2.4
โดยปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจหรือกินเงินมักนำเสนอมาในรูปแบบการเสนอข่าวสารหรือข้อมูลดูดวงที่มีการรียกเก็บค่าบริการ ในส่วนของเอสเอ็มเอสหลอกลวงก็มักแจ้งว่าได้รับรางวัลหรือเชิญชวนให้ลุ้นโชคส่งผลให้เกิดการเสียทรัพย์สิน รวมไปถึงการนำข้อมูลส่วนตัวไปทำการเผยแพร่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนวิตกกังวล รวมถึงการสร้างความอับอายด้วย
สำหรับวิธีการแกัปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 วิธี หนึ่งคือการกด *137 ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่ายุ่งยากและใช้เวลา รองลงมาคือการติดต่อคอลเซ็นเตอร์เพื่อแจ้งหน่วยงานรับเรื่องการร้องเรียนของแต่ละองค์กร และวิธีสุดท้ายคือร้องเรียนสายด่วน กสทช. ซึ่งผู้บริโภคมากถึงร้อยละ 52.6 ที่ไม่พอใจกับการติดต่อผ่าน 3 ช่องทางดังกล่าว โดยผู้บริโภคเห็นพ้องกันว่า กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลผู้ให้บริการเครือข่ายทุกรายอย่างเข้มงวด ในทางกลับกันก็ต้องการให้สภาองค์กรของผู้บริโภคควรจัดทำข้อเสนอต่อ กสทช. ให้กำหนดแนวทางแก้ไขพร้อมเสนอมาตรการกำกับดูแลและเสนอให้เร่งบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์บริโภคผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นว่า มิจฉาชีพยุค 5G มักใช้ความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีเพื่อหลอกเอารหัส OTP ไปใช้ทำธุรกรรมด้านการเงิน จนทำให้กระทบถึงข้อมูลเครคิตบูโรซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ด้านปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างเหตุพัสดุตกค้าง
ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้พยายามประชาสัมพันธ์เบอร์มิจฉาชีพที่ควรเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคได้ทราบเป็นระยะ เนื่องจากมิจฉาชีพปัจจุบันได้ดำเนินการในรูปแบบองค์กรและมีศูนย์คอลเซ็นเตอร์อยู่ในต่างประเทศทำให้ยากที่จะติดตาม ซึ่งพบว่าเงินที่ถูกหลอกให้โอนไปที่บัญชีม้านั้นจะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นภายใน 15 วินาทีเท่านั้น และจะถูกโอนไปอีกหลายชั้นเพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ บางรายไปจบที่การนำเงินเหล่านั้นไปใช้ซื้อบิทคอยน์ ทำให้โอกาสที่จะได้รับเงินคืนนั้นเป็นเรื่องที่ยาก
ดังนั้นจึงแนะนำให้ก่อนทำการโอนเงินผู้บริโภคควรเข้าไปตรวจสอบบัญชีปลายทางได้ที่เว็บไซต์ Blacklistseller ศูนย์กลางการตรวจสอบการฉ้อโกงออนไลน์ เช็คชื่อและเลขบัญชีก่อนซื้อขายเพื่อป้องกันการโดนโกง หากผู้บริโภคถูกหลอกจากลุ่มมิจฉาชีพก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือจะเลือกดำเนินการผ่านระบบออนไลน์คดีอาชญากรรมทางทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยผู้เสียหายต้องรีบดำเนินการภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อเพิ่มโอกาสในการอายัดบัญชีลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์