เมดิคอล ทัวริซึ่ม ฟื้น ‘สมิติเวช’ จัดทัพโซลูชันรักษา-ฟื้นฟู

11 มี.ค. 2565 | 17:50 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 00:52 น.

“เมดิคอล ทัวริซึ่ม” ส่งสัญญาณฟื้นตัว โรงพยาบาลเอกชนลุ้นเปิดประเทศ-ไฟเขียวเดินทาง คาดคัมแบล็ค 20% “สมิติเวช” เกี่ยวตะขอนโนบายส่งเสริมภาครัฐ เตรียมโซลูชันการแพทย์ รักษา ฟื้นฟู ดูแลสูงอายุและเวลเนสรับคนไข้ต่างชาติ

ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในธุรกิจที่หลายคนคาดการณ์ว่าจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนมาก อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีปัจจัยหนุนจากโควิด-19 แต่ตลาดคนไข้ที่เข้ามาพร้อม “เมดิคอล ทัวริซึ่ม” ก็หายตามไปด้วย

 

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกรุงศรี ประเมินว่าในปี 2563 ผลประกอบการของโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแง่กำลังซื้อของผู้ป่วยไทยและต่างชาติ ทำให้รายได้ของธุรกิจหดตัวลง 10-12% ขณะที่ปี 2564-2565 คาดว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะกลับมาฟื้นตัว โดยได้แรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายตัวของชุมชนเมืองและการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง ผนวกกับกระแสการดูแลสุขภาพกำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก

เมดิคอล ทัวริซึ่ม            

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลเอกชนต่างเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ทำให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก ขณะที่มีอัตราค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีมาตรฐานการรักษาระดับเดียวกัน

 

ผนวกกับประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เหมาะกับช่วงพักฟื้น และมีสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล “JCI” สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคและในปี 2562 worldsbesthospitals.net จัดให้โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งของไทยเป็น 1 ใน 5 สถานพยาบาลดีที่สุดในโลกสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

ทั้งนี้โครงสร้างรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่มาจากค่ายาซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุด 35.2% รายได้จากบริการทางการแพทย์ 20.0% การวิเคราะห์ผลจากห้องปฏิบัติการและห้องเอ็กซเรย์ 13.7% ห้องพักผู้ป่วย 8.5% และอื่นๆ 22.6%ฟ

 

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าต่างชาติยังได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และหลายประเทศลงทุนสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัยทำให้ผู้ป่วยจากประเทศดังกล่าวลดความจำเป็นในการเดินทางมารักษาในไทย โรงพยาบาลเอกชนจึงเร่งปรับกลยุทธ์โดยหาลูกค้าจากตลาดใหม่ทดแทน อาทิ ผู้ป่วยที่มีรายได้สูงจาก CLMV จีน รัสเซีย และแอฟริกา

 

ส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประเมินว่ามีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้ามาใช้บริการในไทยเฉลี่ย 2 ล้านครั้ง (Visit) ต่อปีส่วนใหญ่ใช้บริการตรวจสุขภาพ ศัลยกรรม ทันตกรรม และเวชศาสตร์ชะลอวัย ทำให้จำนวนและรายได้จากลูกค้าต่างชาติในภาพรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รพ.สมิติเวช

ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ทำให้ผู้ป่วยในประเทศมีแนวโน้มทยอยกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น,การผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ซึ่งรวมถึงผู้ที่ต้องการรับบริการสุขภาพในไทย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ป่วยต่างชาติเดินทางมาใช้บริการประมาณ 3 หมื่นราย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลางสะท้อนอำนาจซื้อที่จะสูงขึ้น, การขยายตัวของชุมชนเมือง,ปริมาณโรคเฝ้าระวัง โรคอุบัติซ้ำ และอุบัติใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง,อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อร้ายแรงของคนไทยสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพิงรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า เนื่องจากจะมีผู้ป่วยเพียงบางกลุ่มที่สามารถเดินทางมาใช้บริการในไทยได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมไทยเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” สอดคล้องกับกระแส “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยบริการที่ภาครัฐเตรียมพัฒนาความเป็นเลิศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติมาใช้บริการ ได้แก่ ด้านความงาม การแปลงเพศ ข้อเข่า หัวใจ ผู้มีบุตรยากและทันตกรรม รวมถึงการยกระดับมาตรฐานนวดไทยให้เป็นมรดกโลก

 

นพ. ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ.สมิติเวช และรพ.บีเอ็นเอช เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มองว่าปีนี้ Medical tourism อาจไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เต็มร้อย เพราะยังมีเรื่องของโควิด-19 ทำให้การเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่คาดว่าจะกลับมาได้เพียง 20-30% เท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีสัญญาณที่ดีเพราะเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 1,411 ล้านบาทการทำ Medical plaza ที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อรองรับ Medical tourism

นพ. ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร

โดยมีการก่อสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร, ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ, ศูนย์ใจรักษ์ หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร เป็นการล่อให้ชาวต่อชาติเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ที่ภูเก็ต และจะส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมหรือร้านอาหารก็ค่อยๆขยายตัวขึ้นมา

 

“แนวโน้มเมดิคอล ทัวริซึ่มถ้ามองระยะไกลฟื้นตัวแน่นอน ถ้ารัฐบาลให้การสนับสนุน เอกชนก็เกี่ยวตะขอตามไปด้วย มันก็จะเกิดความเจริญ แต่ถ้าระยะสั้นก็คงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประปราย แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าในช่วงไหนของปีที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างเห็นได้ชัด แต่แนวโน้มเมื่อโควิดกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่นคนก็จะเข้ามาได้เยอะ ประเทศไทยก็ต้องเล่นเรื่อง tourist อยู่แล้วเพราะ 17% ของ GDP มาจากท่องเที่ยว ฉะนั้นเมื่อท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งเราจะต้องทำจุดแข็งตรงนี้ให้กลายเป็นจุดขาย”

 

สำหรับสมิติเวชหลักการของเราก็คือ เราต้องเอาตะขอเกี่ยวตามนโยบายรัฐบาล ดูจุดแข็งของเราและดูว่าลูกค้าคนต่างชาติที่จะเข้ามาเขาจะเข้ามาเรื่องอะไร เช่นผ่าตัด,ทันตกรรม,การฟื้นฟู,ผู้สูงอายุ, เวลเนส เป็นที่ต้องการเราก็ต้องเตรียมเรื่องพวกนี้”

 

อย่างไรก็ตามเมื่อมาย้อนดูผลประกอบการโรงพยาบาลสมิติเวชหรือ SVH จะพบว่าปี 2562 มีรายได้รวม 12,796.18 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,001.40 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 7% ปี 2563 รายได้รวม 10,475.93 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,447.40 ล้านบาท ลดลง 28% และปี 2564 รายได้รวม 11,018.66 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,491.29 ล้านบาท ซึ่งรายได้ปี 2563 ลดลงจากปี 2562 จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาใช้บริการลดลงเหลือเพียง 31%

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,764 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2565