แม่ทัพใหม่ แม็คยีนส์ จัดระบบ ปรับกระบวนท่า ปั้นแบรนด์ปั๊มรายได้เพิ่ม

27 ก.พ. 2565 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2565 | 21:41 น.

ผู้ก่อตั้ง “แม็คยีนส์” พยายามสรรหามืออาชีพ เข้ามาเสริมความแกร่งให้กับแบรนด์มากขึ้น และล่าสุด ก็ได้ “เจมส์ริชาร์ด อมตวิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “MC” อดีตซีอีโอ ไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์ เข้าฃมาทำหน้าที่นี้ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 พอดิบพอดี

ด้วยประสบการณ์ที่โชกโชนในบริษัทข้ามชาติกว่า 30 ปี เชี่ยวชาญในแบรนด์แฟชั่น ทั้งด้านอี-คอมเมิร์ช และการตลาด “คุณเจมส์” เล่าว่า แบรนด์แม็คยีนส์เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว และเป็นแบรนด์ที่แข็งแรง คุณภาพดี Portfolio ดี และการที่เป็นแบรนด์ของคนไทย ทำให้สามารถควบคุม Value Chain ได้ทั้งหมด ทำให้มีความคล่องตัว (Agility) สูง เมื่อผนวกเข้ากับสกิลการทำงานที่แข็งแกร่งของทีม โดยเฉพาะเรื่องดีไซน์ โปรดักชั่น และจุดขายเกือบ 600 จุด เพราะฉะนั้น พื้นฐาน (fundamental) ของแม็คกรุ๊ป ถือว่าดีอยู่แล้ว


“เข้ามาก็ต้องเลือกว่าจะทำอะไรบ้าง และสิ่งที่เราจะไม่ทำคืออะไร ต้องวางกลยุทธ์ให้เคลียร์”

แม่ทัพใหม่ แม็คยีนส์  จัดระบบ ปรับกระบวนท่า ปั้นแบรนด์ปั๊มรายได้เพิ่ม
 เริ่มงาน 3 เดือนแรก “คุณเจมส์” บอกว่า เจอปิดร้านไปกว่าครึ่งเพราะโควิด สิ่งที่ต้องทำคือ บริหารจัดการต้นทุน คุมมาร์จิ้น เดือนแรกเราติดลบ พอเดือนที่ 2 ดีขึ้น และดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ทุกอย่างออนแท็คหมดแล้ว เชื่อว่าเต็มปีจะมีรายได้สูสีกับปีที่แล้ว คือราว 3,400 ล้านบาท มาร์จิ้นลดลงนิดหน่อย ที่ผ่านมามีทำกิจกรรมลดแลกแจกแถม เพื่อกระตุ้นยอดขาย คาดว่าปีนี้ท็อปไลน์น่าจะกลับมาดี ธ.ค.64 กลับมาเกือบ 500 ล้านบาท มาร์จิ้นเกือบ 65% 

สิ่งที่ผู้บริหารท่านนี้ให้ความสำคัญ และลุยเป็นเรื่องแรก คือ Productivity มีหลายๆ อย่างที่ได้ดำเนินการ ทั้งการรีโนเวทตกแต่งร้านใหม่ เพิ่มทักษะน้องๆ หน้าร้าน พัฒนาการทำงานเป็นทีม ลดกิจกรรมการตลาดพวกลดแลก แจกแถม ที่จะทำให้แบรนด์เสียมูลค่าลง 
 

เมื่อปรับทุกอย่างให้เข้าที่ถูกทาง ส่วนต่อมาที่ทำคือ มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งลุยทั้งการพัฒนาช่องทางการขาย ทำอีคอมเมิร์ซ ใช้ทั้งมาร์เก็ตเพลสและโซเชี่ยลคอมเมิร์ซ มีการ Live ขายสินค้า ส่งผลให้ยอดขายขยับขึ้นเกือบ 20% ในขณะที่มาร์จิ้นเพิ่มขึ้นเช่นกัน 

แม่ทัพใหม่ แม็คยีนส์  จัดระบบ ปรับกระบวนท่า ปั้นแบรนด์ปั๊มรายได้เพิ่ม

อีกเรื่องคือการหาพาร์ทเนอร์ และขยายช่องทางขาย แม็คกรุ๊ป ได้ร่วมกับ พีทีที อัพเกรดแม็ค เอาท์เลท เริ่มสาขาแรกที่วังน้อย สระบุรี ตอนนี้มี 6-7 สาขา ที่ทยอยปรับไปแล้ว และได้นำทุกๆ อย่างมารวมกัน ทั้งการดีไซน์ การลดราคา การนำโปรดักส์ที่หลากหลาย และตรงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเติม ทำให้ยอดขายขยับขึ้นเกือบดับเบิ้ล และภายในสิ้นปี 2565 เขาตั้งเป้าอัพเกรดทั้ง 70 สาขาที่มีให้หมด
 

“คุณเจมส์” มองว่า ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ การสร้างโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ เขาสร้าง Margin Management และสร้างมูลค่าของแบรนด์ ทำทั้งการแบรนดิ้ง ขยาย Portfolio ของแม็ค จาก DNA เดนิมสู่สินค้าอื่นๆ ให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มขยายพอร์ตแล้วทั้งเดนิมและเสื้อผ้าแคชชวล และเมื่อโปรดักส์มีความหลากหลาย ก็ต้องรู้จักการบริหารจัดการสโตร์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นคนในปริมณฑลมากกว่าในเมือง
 

เทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ “คุณเจมส์” นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรมากขึ้น ทั้งการทำซีอาร์เอ็ม และโอเอ นอกจากนี้ ยังทดลองทำโปรเจค Virtual Shop เริ่มทดลองที่จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช และกำลังศึกษาการสร้าง Avatar ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ (Iconic) ของเอสเคยูต่างๆ ด้วย  รวมถึงเข้ายังมองโอกาสใหม่ๆ ในโลกธุรกิจ อย่างคริปโต ผู้บริหารท่านนี้ก็ให้ความสนใจเช่นกัน

แม่ทัพใหม่ แม็คยีนส์  จัดระบบ ปรับกระบวนท่า ปั้นแบรนด์ปั๊มรายได้เพิ่ม
 

“มันต้องมี Support Pillar เราสร้างความแข็งแกร่งให้ทีมขาย ให้เขาใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้น เราเปลี่ยนหัวของเซล หาคนมีประสบการณ์เข้ามา เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต”
 

ผู้บริหารท่านนี้ ไม่ใช่ผู้นำที่ทำหน้าที่แค่ทุบโต๊ะสั่ง เขาเปิดรับฟังความคิดเห็น ระดมสมอง และช่วยกันตัดสินใจกับทีมงาน มีการประชุม มี town hall กับพนักงาน เพื่อบอกเป้าหมาย ทุกคนมีส่วน และสิ่งหนึ่งที่เขาพยายามทำ คือ การนั่งคุยเร็วๆ แล้วรีบขับเคลื่อน ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารของโลกยุคใหม่ ที่อำนวยความสะดวกทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น 
 

ซีอีโอ แม็คกรุ๊ป ยอมรับว่า เดิมทีแม็คกรุ๊ป มีนโยบายบางอย่างที่หละหลวม เขาจึงทำการสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจน และเดินหน้าทันที 


การเข้ามาทำหน้าที่นำทัพให้กับ แม็คกรุ๊ปครั้งนี้ นอกจากการสร้างให้แบรนด์เติบโตอย่างมั่นคงแล้ว แม็คยีนส์ ซึ่งมีอายุ 47 ปีแบรนด์นี้ เป็นแบรนด์ที่มีโอกาสทางการตลาดอีกมาก ดังนั้น “คุณเจมส์” จึงเดินหน้าเต็มที่ และทำงานทุกอย่างอย่างรวดเร็ว โดยระยะ 2 ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด -19 เขาจะโฟกัสที่ตลาดไทยเป็นหลัก และอนาคตการขยายฟรุตพริ้นของแบรนด์ให้ใหญ่ขึ้น เหมือนแบรนด์อินเตอร์ทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,760 วันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565