SCOPE สร้างงาน ‘ศิลปะ’ ประดับวงการ อสังหาฯ

05 ก.พ. 2565 | 14:07 น.

ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นของภาคอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนั่นคือ ความท้าทายของแบรนด์ SCOPE น้องใหม่ แต่เก๋าเกม ด้วยประสบการณ์บริหารของ “ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์” ผู้คว่ำหวอดในแวดวงอสังหากว่า 30 ปี

“ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโคป จำกัด เลือกวาง
โพซิชั่นนิ่งของ SCOPE ที่ความเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ เจาะเซ็กเมนต์ใหม่ International Premium ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เห็นโลกมามาก มีความชอบและรสนิยมที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะกระแสหลักในประเทศ ที่สำคัญคือ มีกำลังซื้อแน่นอน

SCOPE สร้างงาน ‘ศิลปะ’ ประดับวงการ อสังหาฯ

เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ที่ซีอีโอคนนี้นำมาใช้เป็นหลัก คือ การสร้างโปรดักต์ที่คำนึงถึงการใช้ชีวิต มีคุณภาพและบริการระดับโลก ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกมิติ ไม่ใช่แค่ที่พักอาศัย แต่เป็นการสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ กับงาน “ศิลปะ” ที่ไม่ใช่แค่สวย แต่เมื่อมองย้อนกลับไปแล้วเกิดความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของด้วย 

“แบล็กกราวด์ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักสถิติ เพราะฉะนั้น ผมจึงเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเลข มีทฤษฎีในการหาความน่าจะเป็น เราจึงเข้าใจว่าปัจจุบันมีคนกลุ่ม International Premium เกิดขึ้นคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่เห็นโลกเยอะ อ่านเยอะ

SCOPE สร้างงาน ‘ศิลปะ’ ประดับวงการ อสังหาฯ

เคยไปอยู่หรือไปเรียนเมืองนอก เมื่อกลับมาก็มองหาที่อยู่อาศัยที่ International Standard ซึ่งเรานำสิ่งที่เขาชอบทั้งดีไซน์ สถาปัตยกรรม วัสดุอุปกรณ์ วิธีการอยู่อาศัยและสไตล์การเข้าออกโครงการ เข้ามาทำโครงการของเรา”

จากประสบการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์กว่า 30 ปี โชกโชนในองค์กรระดับแนวหน้าด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ “ยงยุทธ” รู้ว่า ควรเลือกทำและไม่ได้ทำอะไร ที่จะโดนใจกลุ่มเป้าหมาย

 

“ยงยุทธ” เปิดเผยถึงปฐมบทเส้นทางพิสูจน์ความเก๋าเกมในแวดวงเรียลเอสเตทครั้งนี้ว่า “ธุรกิจเรียลเอสเตทเป็นธุรกิจที่มีความปลอดภัยและความเสี่ยงต่ำในการลงทุนดีเวลลอปเปอร์มีทั้งสินทรัพย์ เงินทุน และการซัพพอร์ตจากสถาบันการเงิน แม้โครงการขาดทุน ก็จะไม่เป็นศูนย์ แต่ขณะเดียวกันกำไรที่ได้ก็จะไม่สูงมาก”
 

“หลังจากที่โลดแล่นอยู่ในวงการมาระยะหนึ่ง ทำให้ฉุกคิดว่า ถ้า property ที่เราทำมีทั้งความสวยและอยู่คู่ฟ้าเมืองไทยได้ ก็จะน่าภูมิใจไม่น้อย ดังนั้น ธงในการทำงานของ SCOPE คือจะทำยังไงให้เมื่อมองกลับไปแล้ว ยังมีความภาคภูมิใจตลอดเวลา เราจึงอยากทำอสังหาที่เป็น Art Piece เพราะศิลปะคือ สิ่งที่น่าสนใจ น่าเก็บสะสม และต้องได้รับการดูแลอย่างดี สุดท้ายคือ มีมูลค่าเพิ่ม เพราะฉะนั้นผมก็อยากทำตัวเป็นศิลปินในวงการอสังหาริมทรัพย์”
 

คีย์ความสำเร็จของการบริหารเรียลเอสเสท หลักการลงทุนแต่ละโครงการคงหนีไม่พ้นแนวคิดที่ว่า โลเคชั่นดี งานดีไซน์ดี และที่ขาดไม่ได้คือ การดูแลรักษาที่ดี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศไทยมีโครงการอสังหาริมทรัพย์สวยๆ จำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสวยก็หายไป เพราะขาดการดูแล ซึ่งดีเวลลอปเปอร์หลายรายมองข้ามจุดนี้ไป ในขณะที่ มันเป็นจุดที่ละเอียดอ่อนที่สุด 
 

ดังนั้น สิ่งที่ SCOPE ทำคือ สร้างคอนโดมิเนียมที่มีเซอร์วิส เพราะการบริหารอย่างเดียวไม่พอ การทำงานหลังบ้านของ SCOPE แตกต่างจากดีเวลลอปเปอร์รายอื่นๆ โดยการดึงทีมออกแบบ ทีมคิด ทีมทำ branding จากทั่วโลกเข้ามาร่วมงานตั้งแต่เริ่มคิดโปรเจ็กต์
 

“SCOPE เป็นองค์กรที่คิดใหม่ เราคิดมาตั้งแต่วันแรกที่เราตั้งบริษัทแล้วว่า 
Shareholder ของเราไม่มีทางได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ และผู้บริโภคจะไม่ต้องซื้อของที่ราคาแพงเกินไปถ้าคุณภาพไม่ดีจริง เพราะเรียลเอสเตทไม่ใช่ของหวือหวาที่ซื้อเพื่อโชว์และทิ้งไป แต่เป็นสิ่งที่ต้องอยู่กับเราอีกนาน”
  SCOPE สร้างงาน ‘ศิลปะ’ ประดับวงการ อสังหาฯ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำก็คือ ต้องคิดสูตรในการลงทุนใหม่ เพื่อนำเงินในแต่ละส่วนไปใช้ในที่ที่เหมาะสม ลดค่าใช้จ่ายบางตัวเพื่อไปเพิ่มค่าใช้จ่ายในบางส่วนที่เหมาะสม เช่น ลดขนาดออฟฟิศ ย้ายโลเคชั่นที่ทำงานจากไพร์มโลเคชั่นไปชานเมือง ปลูกฝังความเป็นเถ้าแก่ในตัวพนักงาน แล้วนำเงินไปทุ่มกับค่าออกแบบ โดยการทำงานกับดีไซเนอร์ต่างประเทศ ทำให้ SCOPE สามารถทำงานได้ 24 ชั่วโมง งานเสร็จเร็วขึ้น ประหยัดและออกมาแตกต่าง
 

สำหรับปี 2565 ซึ่งเป็นอีกปีหนึ่งที่เต็มไปด้วยความท้าทายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในแผนธุรกิจ SCOPE มีโครงการคอนโดมิเนียมในมือถึง 4 โครงการมูลค่ารวมกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 2 โครงการคือ SCOPE Langsuan มูลค่าโครงการ 9,000 ล้านบาท บนพื้นที่ดินมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท นับว่าเป็นที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2565 นี้ และโครงการที่ 2 คือ SCOPE Promsri มูลค่า 1,350 ล้านบาท แล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2565 เช่นเดียวกัน และจะเป็นปีแรกที่ SCOPE จะรับรู้รายได้จากการโอนทั้งหมดกว่า 5,000 ล้านบาท
  SCOPE สร้างงาน ‘ศิลปะ’ ประดับวงการ อสังหาฯ

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดตัวอีก 2 โครงการ คือโครงการบนถนนสุขุมวิทติดกับรถสถานีไฟฟ้าทองหล่อ มูลค่า 2,500 ล้านบาท ในปี 2565 จะเป็นโครงการที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อยูนิตกว่า 140 ล้านบาท และมีเพียง 20 ยูนิตเท่านั้น โดยตั้งเป้ายอดพรีเซลของปี 2565 จากทั้ง 3 โครงการกว่า 4,500 ล้านบาท และในปี 2566 SCOPE มีแผนขึ้นโครงการใหม่ในทำเลสุขุมวิท 23 อีกหนึ่งโครงการ มูลค่า 2,200 ล้านบาท

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565