อาหารจากแมลง ฮอต ‘โคคูนิก’ แตกไลน์สแน็ค-คอสเมติกส์

13 ก.พ. 2565 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2565 | 20:53 น.

โปรตีนทางเลือก “แมลง” สุดฮอต มูลค่าทั่วโลกทะลุ 340 ล้านเหรียญ ดันตลาดส่งออกไทยคึกคักเติบโต 30% “โคคูนิก” เด้งรับเตรียมล้อนซ์ทั้งอาหาร สแน็ค คอสเมติกส์ จับกลุ่ม B2B-B2C

“แมลง” กลายเป็นโปรตีนทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยเหตุเพราะจำนวนโปรตีนต่อกรัม แมลงมีปริมาณสูงกว่าวัว 6 เท่า สูงกว่าแกะ 4 เท่า สูงกว่าหมูและไก่ 2 เท่า ส่งผลเป็นที่นิยม จนปัจจุบันมีมูลค่าตลาดทั่วโลกราว 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 25 % ในขณะที่ปัจุบันประเทศไทยส่งออกแมลงราว 500-600 ตันต่อปี มีมูลค่าประมาณ 2,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% โดยส่วนใหญ่ส่งออกในรูปของวัตถุดิบ เช่น แช่แข็ง แป้ง ส่วนการแปรรูปจะอยู่ในรูปแมลงกระป๋อง

 

นางสาวแพรวพราย ก้องเกียรติไกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคคูนิก จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัญหาของโลกคือ ขาดโปรตีนสะอาด รวมไปถึงประเด็นสำคัญอย่างความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางด้านอาหาร ดังนั้นการหาแหล่งโปรตีนใหม่ๆจึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเพ่งเล็งและจับตามองอย่างมาก และอาหารจากแมลงก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

สำหรับโคคูนิก เริ่มเข้าสู่ธุรกิจอาหารจากแมลงเมื่อ 4 ปีก่อน โดยเริ่มต้นจากการแสวงหาไข่หมอนไหมอีรี่และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพาะเลี้ยง เพื่อนำดักแด้ไหมอีรี่ซึ่งเป็นส่วนที่มีองค์รวมของโปรตีนเยอะที่สุด มาพัฒนาเป็นโปรตีนสะอาดแหล่งใหม่ เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นคือความ sensitive ต่อสารเคมีถ้าใบสำปะหลังไม่สะอาดไหมอีรี่จะตายทันที

อาหารจากแมลง

ขณะที่วงจรการผลิตดักแด้ไหมอีรี่ยังใช้เวลาน้อยสามารถเลี้ยงในระบบปิดทำให้ประหยัดพื้นที่และแทบจะไม่ใช้น้ำในการเลี้ยง ที่สำคัญคือดักแด้ไหมอีรี่หายใจน้อยมากจึงไม่มี Co2 ออกมาทำลายโลก ซึ่งตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของความยั่งยืนและแหล่งโปรตีนใหม่

 

“ในแมลง 100 กรัมจะให้โปรตีน 60-70 กรัม เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ต้องกินเยอะ และที่สำคัญคือแมลงเป็นโปรตีนสะอาดที่โลกกำลังต้องการนี่จึงเป็นเหตุสำคัญว่าทำไมแมลงจึงเป็นเรื่องเปลี่ยนโลก ข้อดีอีกอย่างของดักแด้ไหมอีรี่คือ ไม่มีขยะ เพราะไหมรอบตัวเรานำไปทำไปทำเส้นใยสิ่งทอ ดักแด้นำไปทำเป็นอาหาร รังไหมนำไปสกัดได้สาร Sericin ซึ่งมีมูลค่าสูงและใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้”

 

สำหรับแผนธุรกิจปีนี้โคคูนิกจะเน้นการทำการตลาดเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ ตลาดแล้ว 1 รายการคือ Eri Silk Pupae Powder ผงดักแด้ไหมอีรี่ ในระยะแรกวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และภายในปีนี้บริษัทมีแผนส่งผลิตภันฑ์จากดักแด้ไหมอีรี่ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง 3-4รายการ

โคคูนิก

เช่น “Eri Rocket” ขนมขบเคี้ยว 2 รสชาติวางจำหน่ายผ่านมาร์เก็ตเพลสออนไลน์และโมเดิร์นเทรด, “BOLD” ผงโปรตีนพร้อมทาน เจาะตลาดคนรักสุขภาพและมีความต้องการสร้างเสริมกล้ามเนื้อ เน้นส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก และแบรนด์เครื่องสำอาง“Sericine” มีกลุ่มมอยเจอร์ไรเซอร์ เช่นครีม, น้ำมัน, โลชั่น, เซรั่ม หรือสกินแคร์ต่าง ๆ เป็นโปรดักต์นำร่อง

 

ปัจจุบันองค์รวมของความเป็นฟิวเจอร์ฟู้ด ถูกพัฒนาไปพร้อมกัน เช่นในประเทศไทยเมื่อตลาดเพลนต์เบสแจ้งเกิดก็ทำให้ตลาดอาหารจากแมลงเกิดขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ในตลาดโลก โปรตีนใหม่ที่เกิดขึ้นก่อนคือโปรตีนจากจิ้งหรีดซึ่งช่วยให้กฎหมายต่างๆเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว

 

ส่งผลต่อเนื่องให้ตลาดฟิวเจอร์ ฟู้ด ปัจจุบันถูกผลักดันให้เติบโตอย่างรุนแรง ในประเทศไทยเองมีการแข่งขันในตลาดนี้ค่อนข้างสูงและมีกลุ่มผู้ประกอบการเชิง Future Food เข้ามาในตลาดจำนวนมาก รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาช่วยลงทุนค่อนข้างมากเช่นกัน

แพรวพราย ก้องเกียรติไกร

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่เป็นอุปสรรคบ้างเช่นกฎหมายอาหารที่มี food safety เคร่งครัดเพื่อรองรับการแพ้อาหารรวมไปถึงกฎหมายของการส่งออกซึ่งจะมีข้อบังคับในบางประเทศที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าแมลงบางชนิด หรือกฎหมายบางประเทศจะต้องมีรายงานการกินแมลงหรืออาหารชนิดนั้นอย่างน้อย 20 ปี เป็นต้น

 

ถึงจะสามารถนำเข้าประเทศได้ แต่ในภาพรวมของตลาดโลกมีการเปิดรับอาหารจากแมลงในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าในประเทศไทยจะมีมาตรการผลักดันอุตสาหกรรมนี้ได้เร็วแค่ไหน เพราะเมืองไทยขึ้นชื่อว่าเป็นครัวของโลก food technology ก็ควรเกิดขึ้นได้ก่อนประเทศอื่น

 

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้บริโภคว่ามีทัศนคติและเปิดใจรับกับอาหารจากแมลงหรือแหล่งโปรตีนใหม่ชนิดต่างๆอย่างไร และอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ประกอบการเจอในปัจุบันคือความขาดแคลนแรงงานเนื่องจากในช่วงที่โควิดระบาดเกิดการไหลออกของแรงงาน ทำให้เกิดการแย่งตัวแรงงานและต้องใช้แรงจูงใจค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ ผู้บริโภคค่อนข้างคาดหวังว่าโปรตีนจากแมลงจะต้องมีราคาถูกเพราะดูเป็นวัตถุดิบหรืออาหารโลคอล

 

ส่วนการแข่งขันในอุตสาหกรรมปัจจุบันยังเป็นการแข่งขันในเรื่องของ innovation การผลิตอาหาร แต่ในอนาคตเชื่อรูปแบบการแข่งขันจะเปลี่ยนไปโดยจะเกิดการแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น เห็นได้จากปัจจุบันในตลาดแพลนต์เบสเริ่มเห็นแบรนด์ที่ทำราคาต่ำลง

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,756 วันที่ 10 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565