ท่องเที่ยวปี2565‘อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์’ปั้มรายได้ 1.3 ล้านล้าน

11 ม.ค. 2565 | 14:28 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 17:02 น.
936

“โอมิครอน” เป็นปัจจัยลบที่ซํ้าเติมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย กลับมาชะงักอีกครั้ง ซึ่งทิศทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวปีนี้ในมุมของผู้กำกับดูแลการท่องเที่ยว จะมีนโยบายในการเดินต่อเช่นไร นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีคำตอบ

การท่องเที่ยวปี 2565 ยังคงต้องทำเต็มที่ เพื่อเดินหน้าฟื้นประเทศเป็นสำคัญ ภายใต้การรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข

 

คาดต่างชาติเที่ยวไทย 5-15 ล้าน

 

รมว.ท่องเที่ยว เปิดใจว่า ปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวคาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีต่างชาติเที่ยวไทย อยู่ที่ระหว่าง 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ราว 8 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเหมือนปกติทั่วไป ที่เรายังมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5 ล้านคน ถ้าเรามีอินเดียเพิ่มเข้ามา ก็จะได้ถึง 7 ล้านคน ถ้าจีนเปิดให้คนออกนอกประเทศได้ หลังกลางปีนี้ไปแล้ว ก็น่าจะได้สัก 9 ล้านคน และหากมีการเปิดชายแดนให้เที่ยวได้ ที่หากมี เมียนมา ลาว มาเลเซีย ก็น่าจะได้ถึง 15 ล้านคน เพิ่มจากปี 2564 ที่คาดว่าจะมีนักอยู่ที่ราว 4 แสนคน

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

เนื่องจากแม้จะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน แต่ล่าสุดหลายประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็เลิกล็อกดาวน์แล้ว เพราะกลายเป็นว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้ว แม้โอมิครอนจะแพร่เชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการน้อยกว่าเดลต้า ส่วนมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าไทย ที่มีการปิดระบบลงทะเบียน Thailand Pass นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยแบบ Test & go และแซนด์บ็อกซ์ต่างๆ ชั่วคราว 

 

ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 7 แสนล้าน ซึ่งในปีนี้ภาครัฐยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้แม้จะมีโอมิครอน แต่การคาดการณ์ท่องเที่ยวในปี 65 จะยังคงยืนเป้าหมายนี้ไว้อยู่เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงาน

 

จุดพลุเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4

 

โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ปัจจุบันผ่านความเห็นชอบในหลักการจากครม.แล้ว ขั้นตอนจากนี้จะมีการหารือกับสภาพัฒน์เพื่อขออนุมัติการจัดสรรเพื่อดำเนินโครงการ โดยจะเพิ่มห้องพักอีก 2 ล้านห้อง ใช้งบลงราว 13,200 ล้านบาท (รัฐจ่าย 40%+ อี-วอลเชอร์+ตั๋วเครื่องบิน) จะขอใช้งบจากเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังเหลือวงเงินอยู่ 150,000 ล้านบาท

 

หากโครงการผ่านการเห็นชอบสภาพัฒน์ฯ ก็จะต้องนำเสนอศบศ.เพื่ออนุมัติต่อไป คาดว่าน่าจะเริ่มเปิดระบบให้จองได้ในช่วงปลายเดือนม.ค. หรือเดือน ก.พ. 65 และโครงการจะสิ้นสุดในเดือนก.ย. 65 เนื่องจากเป็นการใช้งบจากวงเงินกู้ก้อนใหม่ หลังจากโครงการเราเที่ยวกันในเฟส 3 ที่มีการใช้สิทธิ์จนเต็มไปแล้ว เป็นการใช้งบจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

ทั้งผมกำลังพิจารณาว่าจะขอคืนวงเงินจากโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” เนื่องจากมีการใช้น้อยมาก จาก 1 ล้านสิทธิ์ ปัจจุบันมีการใช้ไปแค่ 2-3 หมื่นสิทธิ์เท่านั้น เนื่องจากคนไม่อยากเดินทางร่วมกับคนอื่นผ่านบริษัทนำเที่ยว เพราะกลัวโควิดและสภาพัฒน์ฯจะปิดบัญชีงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นการขอคืนวงเงิน “ทัวร์เที่ยวไทย” เมื่อคืนก็จะขอคง งบไว้ เพื่อใช้ในการโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 4” ซึ่งหากคืนงบไป 4,500 ล้านบาท “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็จะใช้งบอยู่ที่ 8-9 พันล้านบาท

 

ท่องเที่ยวปี2565‘อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์’ปั้มรายได้ 1.3 ล้านล้าน

เดินหน้าปีท่องเที่ยวไทย

 

แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทย จะโปรโมทการท่องเที่ยวไทย ภายใต้แนวคิด “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์” (Amazing Thailand New Chapter) ที่จะนำเสนอภาพใหม่ของการท่องเที่ยวไทย ที่ไม่ใช่แค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องประกาศนิว แชปเตอร์ ที่จะเป็นจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายในเดือนม.ค.นี้

 

นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หรือราวเดือนเม.ย.นี้ ไทยก็จะมีการเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงห้องนํ้า การซ่อมแซม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแมดเมด โดยในวงเงินที่นักท่องเที่ยวจ่ายมานี้ เราจะทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย

 

ดังนั้นถ้านักท่องเที่ยวเกิดประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น ซึ่งจะมีการเรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว โดยถ้าเดินทางมาทางอากาศจะเรียกเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน แต่หากเดินทางมาจากทางบก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้วิธีการจัดเก็บได้อย่างไร

 

รวมถึงกระแสแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว กระทรวงฯและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมการท่องเที่ยว ได้เดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น เหมือนภาพที่กระทรวงฯจัดทำโครงการอาสาสมัครท่องเที่ยวในทุกชุมชนครอบคลุมทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

 

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในปีนี้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3746 วันที่ 6-8 มกราคม 2565