ส่อง ‘เทรนด์’ ธุรกิจแรง ปี 2022 หลังโควิด-19

01 ม.ค. 2565 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2565 | 20:36 น.
7.6 k

เมื่อ “โควิด-19” เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตสู่ New Normal โลกธุรกิจก็ต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุค Now Normal เช่นกัน หลายสิ่งที่พบและเกิดการเปลี่ยนแปลงในปี 2564 แต่เทรนด์ธุรกิจที่จะเดินหน้าและมาแรงในปี 2565 มีอะไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมมาไว้ที่นี่ 

 5 เทรนด์สินค้าแรงไม่เลิก

เริ่มต้นด้วย 5 เทรนด์สินค้าที่มาแรง แม้บางประเภทจะแรงในปีก่อน แต่ปีนี้เชื่อว่าจะยังแรงไม่เลิก ไม่ว่าจะเป็น 1. นวัตกรรมประหยัดพลังงาน นอกจากเหนือสินค้าที่เรียกตัวเองว่า “สมาร์ท ไลฟ์” คือเกิดมาเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้กับชีวิต ทั้งมีกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ สิ่งที่ถูกพูดถึงและจะเป็นที่ต้องการคือ “ประหยัดพลังงาน” 2. อีคอมเมิร์ซ-ดิจิทัล เซอร์วิส ธุรกิจซื้อขาย แลกเปลี่ยนบนโลกออนไลน์จะยังคงฮอทฮิต ตามวิถีใหม่ ทั้ง E-Market Place, Delivery Service, Streaming Platforms เป็นต้น

 

3.สินเชื่อบุคคล เมื่อกระแสเงินสดเป็นสิ่งจำเป็น ท่ามกลางสถาน การณ์ความเสี่ยงแบบรอบด้าน การปล่อยสินเชื่อทั้งบุคคลและองค์กรจึงยังมีดีมานด์สูง 4. Health & Wellness ที่สุดแล้วเรื่องของสุขภาพ ความงาม และความเป็นอยู่ที่ดี ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนต้องการ โดยเฉพาะการ ดิสรัปท์ของโควิด ทำให้ดีมานด์ในสินค้าและบริการกลุ่มนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด 5. อาหารทางเลือก หลากหลายอาหารที่ได้รับความนิยมไม่ว่าจะเป็นอาหารออแกนิก วีแกน รวมไปถึงอาหารแห่งอนาคต (Future of Food) อย่างโปรตีนทางเลือก ที่เป็นโอกาสของธุรกิจและสินค้ามาแรง

 

7 เทรนด์สร้างแบรนด์ 2022

 

ผลงานความร่วมมือระหว่าง MI Group กับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ 6 เทรนด์สร้างแบรนด์และองค์กรในปี 2022 ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งประกอบไปด้วย เทรนด์ที่ 1 . Brand Loyalty More Fragile เมื่อความจงรักภักดีต่อแบรนด์ เปราะบาง ลูกค้าอยากลอง สิ่งใหม่และมองหาความคุ้มค่ามากขึ้น เทรนด์ที่ 2. Gen Z More Social Influence เจนเนอเรชั่น Z ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสังคมเทรนด์ที่ 3. Speed & Agility ความเร็วและความคล่องตัวพิชิตทุกสิ่ง เทรนด์ที่ 4. Personalized Communication การสื่อสารเฉพาะเจาะจงแต่ละกลุ่มเป้าหมายด้วยข้อมูล (Data) ที่เก็บอย่างมีประสิทธิภาพ

เทรนด์ธุรกิจปี 2022

เทรนด์ที่ 5. Hybrid events is Next Big Things งานไฮบริดที่จะเข้ามาแทนที่และเชื่อมโยงให้ทุกสิ่งเข้าใกล้กันยิ่งขึ้น เทรนด์ที่ 6. Sustainability การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ องค์กรต้อง LEAN ด้วยการเอาท์ซอสและใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ และเทรนด์ที่ 7. Be a Helpful Brand ที่สุดแล้วไม่ว่าแบรนด์จะเดินหน้าไปทางใด ก็ต้องไม่ลืมที่จะช่วยเหลือสังคมเพราะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

 

การสร้างแบรนด์และองค์กรให้ซัคเซส ต้องเลือกใช้สื่อและรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสม โดยสื่อและรูปแบบการสื่อสารที่โดดเด่นในปี 2022 ได้แก่ TikTok ที่เชื่อว่าจะแรงขึ้น, Video Ad & Live take over, Influencers ทั้ง Specialist, Micro, Nano ยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกโซเชียลในทุกเจนเนอเรชั่น สุดท้ายสื่อที่ถูกรังสรรค์ออกมาต้องสร้างสรรค์และแตกต่าง เพื่อดึงคนให้ได้ภายใน 2 วินาทีแรก

 

 เทรนด์ผู้บริโภคมิลเลนเนียล

“เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์” ได้นำเสนอเทรนด์การบริโภคคนรุ่นใหม่ (Gen Y-Z) ในอุตสาหกรรมอาหาร ได้อย่างน่าสนใจและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มมิลเลนเนียล เหล่านี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และเปลี่ยนแปลงเร็ว การเข้าใจและเข้าถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ 1. A desire for customization ผู้บริโภคหันความต้องการไปสู่สินค้ารูปแบบเฉพาะ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของตัวเอง เช่น แพ้นมวัว ทานมังสวิรัติ เป็นต้น

 

2. Expanded Deliveryโควิดดิสรัปชัน ทำให้ร้านอาหารต้องปรับตัวให้บริการ takeaway และ delivery รวมถึงบริการ on-demand delivery 3. Edible insects แมลง กลายเป็นหนึ่งในอาหารทางเลือก เมื่อคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสารอาหาร ขณะที่แมลงอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ จึงเข้ากันได้อย่างลงตัว 4. High quality Frozen food and microwavable food อาหารแช่แข็งกลายเป็นตัวเลือกที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงหันมาลงทุนด้านนวัตกรรมและใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงที่คงคุณค่าทางอาหารไว้ และ 5. Organic  and natural, locally grown กลุ่มมิลเลนเนียล มีภาพลักษณ์ที่รักอาหารออแกนิค มาจากธรรมชาติ ไม่ยึดติดกับการซื้อสินค้าจากแบรนด์ ใหญ่ๆ สนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่น ศึกษาแหล่งที่มาและปริมาณสารอาหารที่ได้รับอย่างถี่ถ้วน 

 

หากจะตัดสินใจเข้าสู่สนามรบในอุตสาหกรรมอาหาร เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่จึงน่าสนใจไม่น้อย

 

5 ปัจจัยท้าทาย

แต่การจะลงทุนในอุตสาหกรรมใดก็ตามในปี 2565 ต้องคำนึงถึงปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อธุรกิจ แน่นอนว่านอกจากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีต่อเนื่องจากไวรัสกลายพันธุ์ แม้จะมีปัจจัยบวกจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 70% ของจำนวนประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะที่การเดินหน้าธุรกิจที่หยุดนิ่งไม่ได้อีกต่อไป หลังจากชะลอตัวมานานถึง 2 ปี ก็ต้องขับเคลื่อนต่อ

 

โดยปัจจัยท้าทายที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งแม้วันนี้ผู้บริโภคอาจจะบอกว่า “ชอบ” แต่ในวันพรุ่งนี้อาจจะตอบว่า “ไม่ชอบ” ก็เป็นได้ นอกจากนี้ผลกระทบที่สำคัญคือ ภาวะอัตราว่างงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจชะลอการลงทุน การขยายงาน ทำให้ลดการจ้างงาน ขณะที่แต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาออกสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก

 

ผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ยังทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาประเมินว่า อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลง (จากเดิมที่ไม่ฟื้นตัวหรือฟื้นตัวน้อย) ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ภาคท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีสัญญาณบวกที่ดีขึ้น โอกาสที่จะกลับมาเทียบเท่าก่อนโควิดจึงมีน้อยมาก อาจต้องใช้เวลานานกว่า 2-3 ปี การคาดหวังรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงริบหรี่ สุดท้ายเสถียรภาพการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าดูแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ที่สุดแล้วเมื่อธุรกิจต้องเดินหน้าต่อ “ความพร้อม” สำคัญที่สุด 

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,744 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 - 2 มกราคม พ.ศ. 2565