เปิดช่องโหว่สกรีนนักท่องเที่ยวเข้าไทย ถึงเวลารีเซ็ทเพื่อเดินต่อ

29 ธ.ค. 2564 | 14:46 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2564 | 22:07 น.

“โอมิครอน” ซํ้าเติมให้การท่องเที่ยวของไทย ที่กำลังจะเริ่มขยับหลังเปิดประเทศต้องชะงักไป เมื่อศบค.ต้องยกระดับมาตรการเดินทางเข้าไทยด้วยการปิดระบบ Thailand Pass ชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวแบบ Test and Go แซนด์บ็อกซ์อื่นๆ ยกเว้น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เพื่อสกัดโอมิครอน

การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธ์ “โอมิครอน” ซํ้าเติมให้การท่องเที่ยวของไทย ที่กำลังจะเริ่มขยับหลังจากเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ต้องชะงักไป เมื่อศบค.ต้องยกระดับมาตรการเดินทางเข้าไทยด้วยการปิดระบบ Thailand Pass ชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวแบบ Test and Go และแซนด์บ็อกซ์อื่นๆ ยกเว้น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 64-4 ม.ค. 65 เป็นเวลา 14 วัน เพื่อสกัดโอมิครอน

 

ดังนั้นตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 22 ธ.ค. 64 นักท่องเที่ยวรายใหม่ที่ยังไม่ได้รับ Thailand Pass จะสามารถขอ Thailand Pass เข้าไทยได้ 2 ช่องทางเท่านั้น คือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” โดยอยู่ภายในภูเก็ต 7 วันถ้าผลการตรวจเชื้อเป็นลบสามารถเดินทางเที่ยวที่ไหนก็ได้บนเกาะภูเก็ต และการกักตัวแบบ Alternative Quarantine หรือ AQ ซึ่งเป็นการกักตัวในโรงแรม 7 วันสำหรับผู้ฉีดวัคซีนแล้ว 10 วัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และ 14 วันสำหรับผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตามการยกระดับมาตรการเปิดประเทศของไทย แม้จะไม่กระทบต่อนักท่องเที่ยวที่ได้รับ Thailand Pass ก่อนวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้รับการอนุมัติแล้วแต่ยังไม่ได้เดินทางเข้าไทยราว 2 แสนราย ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะยังคงเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้ในรูปแบบเดิมที่ได้รับการอนุมัติ ไม่ว่าจะเป็น Test and Go หรือแซนด์บ็อกซ์ต่างๆ ได้เหมือนเดิม แต่มีเพิ่มเติม คือ จะต้องมีการตรวจเชื้อโควิดแบบ RT-PCR ครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลจะสนับ สนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งที่ 2 ให้แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ดังนั้นทั้งตัวนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย รวมถึงบุ๊กกิ้งที่จองไว้แล้วคงไม่มีปัญหาอะไร

 

เปิดช่องโหว่สกรีนนักท่องเที่ยวเข้าไทย ถึงเวลารีเซ็ทเพื่อเดินต่อ

แต่สำหรับบุ๊กกิ้งใหม่แน่นอนว่าจะเกิดการชลอตัว เพราะแม้ไทยจะไม่ได้ปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวก็จริง แต่การปิดระบบ Thailand Pass สำหรับการเดินทางเข้าไทยแบบ Test and Go ก็กระทบต่อการตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยกว่า 80% เป็นแบบ Test and Go การเปิดให้ระบบรับเฉพาะภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และ AQ ก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่มากนักอยู่แล้ว โดยในพื้นที่ภูเก็ตเอง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-22 ธ.ค. 64 มีนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ต 90,034 คน ในจำนวนนี้มาจาก Test and Go 63,289 คน มาจากโครงการแซนด์บ็อกซ์ 26,477 คน และ AQ 268 คน

การปิดระบบ Thailand Pass แบบ Test and Go ชั่วคราวเป็นเวลา 14 วัน ยังทำให้บุ๊กกิ้งใหม่ที่แพลนจะเข้ามาก็ไม่สามารถเดินต่อได้ และก็ยังไม่รู้อย่างแท้จริงว่าหลังวันที่ 4 ม.ค.ไปแล้ว จะมีการเปิดระบบกลับมาเหมือนเดิมได้จริง เพราะในช่วง 14 วันเป็นการขอประเมินสถานการณ์ของศบค.เท่านั้น ถ้าไทยคุมการระบาดของโอมิครอนได้ ก็อาจจะกลับมาเปิดระบบเหมือนเดิม แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดี ก็มีโอกาสที่อาจจะขยายเวลาปิดระบบต่อไปได้อีก

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ศบค.มีมติปิดระบบดังกล่าว  เป็นเพราะสถิติการติดเชื้อโควิดที่มีการเดินทางมาจากต่างประเทศทั้งคนไทยและต่างชาติ เดิมอยู่ที่ 0.13% แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโอมิครอน พบว่ามี การติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น 0.22% คิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นถึง 1.7 เท่าและในจำนวนนี้เป็นการเดินทางผ่านระบบ AQ ที่เพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ด้วยมีการกักตัว 7-14 วันจึงถือว่าควบคุมได้ ส่วนระบบแซนด์บ็อกซ์เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า ถือว่าเพิ่มน้อยสุด และถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะจึงไม่เสี่ยงมาก ขณะที่มาจากระบบ Test and Go ที่เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า หรือเกือบ 2 เท่า การไม่กักตัวหลังผลตรวจเป็นลบ จึงมีความเสี่ยงสูง

 

เปิดช่องโหว่สกรีนนักท่องเที่ยวเข้าไทย ถึงเวลารีเซ็ทเพื่อเดินต่อ

เนื่องจากโอมิครอนจะมีระยะฟักตัวแบบไม่แสดงอาการ การตรวจ RT-PCR ครั้งแรกแม้ผลตรวจจะออกมาเป็นลบก็จริง แต่เมื่อมีแสดงอาการทีหลัง ก็จะทำให้อาจเกิดโอมิครอนหลุดรอดเข้ามาได้ ซึ่งพบว่าไทยพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน ข้อมูล ณ วันที่ 29 ธ.ค. 64 ยอดสะสม 104 ราย 740 ราย ประกอบกับการปิดระบบชั่วคราว 14 วันหรือ 2 สัปดาห์ที่เกิดขึ้นจึงถือว่าเป็นการชี้ชะตา เพราะผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวต้องร่วมมือกันในการปฏิบัติตามมาตราการคัดกรองการเดินทางเข้าไทยที่เข้มข้นขึ้น 

 

โดยเฉพาะการดูแลให้นักท่องเที่ยวดำเนินการโหลดแอพลิเคชั่น หมอชนะภาษาอังกฤษ และการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ให้ได้ 100% ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยต่อไปจะต้องมีการตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5-6 โดยนักท่องเที่ยวต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ยกเว้นผู้ที่ได้รับการอนุมัติThailand pass ก่อนวันที่ 22 ธ.ค. ที่รัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้

 

นอกจากนี้ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าระบบหมอชนะภาษาอังกฤษเอง ก็มีปัญหามาก เพราะการโหลดยากระบบมีความไม่เสถียร ทำให้ก็มีนักท่องเที่ยวไม่ได้ลงแอพพลิเคชั่นนี้  ทำให้ติดตามตัวได้ยาก เช่นเดียวกับระบบ COSTE ในการจองห้องพัก ที่ก็จะไม่สามารถติดตามได้ว่านักท่องเที่ยวที่เช็คเอ้าท์ออกไปแล้วจะไปอยู่ที่ไหน อีกจุดคือการตรวจ RT-PCR ในโรงแรม ก็ทำให้มีความไม่มั่นใจว่าจะมีการตรวจได้ 100% แตกต่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่นักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตทั้ง 100% จะต้องได้รับการตรวจ RT-PCR ที่สนามบินภูเก็ต และด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะทำให้มีการควบคุมดูแลได้ง่ายกว่า

 

นี่เองจึงทำให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จึงยังเดินหน้าต่อได้ รวมถึงแผนสองที่มีโอกาสจะเดินได้ต่อคือการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ คือ การขยายการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตไปยังพื้นที่ใกล้เคียง อย่าง เขาหลัก จ.พังงาหรือสมุยแซนด์บ็อกซ์ หากไทยยังไม่สามารถเปิด Test and go ได้หลังวันที่ 4 ม.ค.นี้ เช่นเดียวกับแผนการเปิด Teat and go ทางบกที่ด่านหนองคายก็ต้องเลื่อนออกไปก่อนเช่นกัน

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  หน้า 8  ฉบับ 3,743 วันที่ 26-29 ธันวาคม 2564