‘ซีพีแรม’ Go Green เดินหน้ายุทธศาสตร์ สังคมคาร์บอนตํ่า

04 ธ.ค. 2564 | 18:53 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2564 | 01:54 น.

“ซีพีแรม” เดินหน้ายุทธศาสตร์รับภาวะโลกร้อน มุ่ง Climate change ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดพลังงาน ลดการใช้น้ำ ไฟฟ้าด้วยโซลาร์รูฟท็อป แทนการใช้แบตเตอรี่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หวังเป็นต้นแบบองค์กรเล็ก-ใหญ่ พร้อมหนุนพลังงานสะอาด มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ถือเป็นขุมกำลังใหญ่ที่แต่ละปีใช้พลังงานไฟฟ้าในการดำเนินกิจการทั้งจากภาคการผลิต การขนส่งและจัดจำหน่าย ที่เกิดขึ้นภายในอาคารสำนักงานทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศจำนวนมากโข สำหรับ “ซีพีแรม” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี

 

แนวคิดในการเดินหน้าแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้สอดคล้องกับองค์การสหประชาชาติจึงเกิดขึ้น โดยนำหลักการการทำงานของทั้ง CPG 2030 Sustainability Strategy และ 7 GO Green Mission 2021 มาต่อยอดเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซีพีแรม Go Green

นายสาธิต แสงเรืองอ่อน รองกรรมการผู้จัดการ สายงานสนับสนุนและยุทธศาสตร์ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของซีพีแรมว่า ซีพีแรม กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ 15 เป้าหมาย โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตามเป้าหมายที่ 12 คือ “การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ” ซึ่งมุ่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) ครอบคลุมถึงการดำเนินการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย การใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการดูดซับก๊าซคาร์บอนจากบรรยากาศด้วยการปลูกและดูแลรักษาป่าไม้ ซึ่งดำเนินการเองภายในองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียทั้งที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและนอกห่วงโซ่อุปทาน

 

“ซีพีแรมมีเป้าหมาย 3 ด้านคือ1. Climate change ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 5% ต่อปี 2. Energy ลดปริมาณการใช้พลังงานรวมสุทธิทั้งหมดให้ได้ 8,805.65 ต่อปี และ 3. Water ลดปริมาณการใช้น้ำลง 5% ต่อปี ด้วยการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่/ใช้ซ้ำ”

 

โดยกำหนดกลยุทธ์การจัดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเครือซีพี ในการใช้พลังงานสะอาดทางเลือกที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดค่าใช้จ่ายขององค์กรผ่านการลงทุนติดตั้ง “Solar Rooftop” บนพื้นที่หลังคาอาคารโรงงานผลิต

ซีพีแรม Go Green

โดยออกแบบขนาดกำลังการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามการใช้ไฟฟ้าของโรงงานผลิตแต่ละแห่ง เพื่อรักษาระดับการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ระดับที่เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงงานที่จะติดตั้ง และกำหนดให้พลังงานไฟฟ้าที่ระบบสามารถผลิตได้จะต้องถูกใช้จนหมดและไม่เกิดการผลิตไฟฟ้าสูญเปล่าในช่วงเวลาที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้

 

“สาธิต” บอกอีกว่า ซีพีแรมได้ดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop ไปแล้วกว่า 34,315 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 188 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 7,200 กิโลวัตต์ต่อปี ช่วยลดอัตราค่าไฟฟ้า Peak Load ในช่วงเวลากลางวันของทุกวัน ถือเป็นการลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าในโรงงานประหยัดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า ได้ประมาณ 9 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละมากกว่า 4,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ถือว่าเป็นการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยมีการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์กว่า 16,000 แผง

ซีพีแรม Go Green

การลงทุน “Solar Rooftop” เป็นไปตามกรอปนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม CPG 2030 Sustainability Strategy ของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในเรื่องของ Carbon Neutral หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของแผนดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย 7 GO Green Mission 2021 เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชม.ของซีพี ออลล์ ในเรื่องของ Green Building และ Green Store

 

“สิ่งที่เราเน้นคือคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ Scope1&2 และควบคุมการเติบโตการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (final energy)ให้ลดลงเปรียบเทียบกรณีปกติ (Business-as-usual,BAU) Scope1 คือการใช้พลังงานที่เผาไหม้โดยตรงที่เกิดจากโรงงานของเราเอง

 

ส่วน Scope 2 เป็นพลังงานที่เกิดจากแหล่งผลิตอื่น โดยโครงการ Solar Rooftop เป็นส่วนหนึ่งในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก scope 2 และเป็นนโยบายของเครือที่มุ่งสู่การใช้กรีนเอนเนอจี โดยส่วนมากจะถูกนำมาใช้ในไลน์ผลิตทั้งหมด ปัจุบันโรงงานของเราจะใช้ไฟฟ้าจาก 2 แหล่งคือโซล่าเซลล์และจากกฟผ.”

ซีพีแรม Go Green

รองกรรมการผู้จัดการ บอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ซีพีแรมเคยศึกษาการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งพบว่ามีข้อจำกัดในการกักเก็บพลังงานตอนกลางคืนและการคืนทุนที่ใช้เวลานานกว่า รวมทั้งการทำลายแบตเตอรี่ใช้แล้วยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทางหนึ่ง ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ ของบริษัทมีอายุการใช้งาน 25 ปีและเมื่อหมดอายุการใช้งานบริษัทรับติดตั้งจะเป็นผู้นำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเนื่องจากเป็นวัตถุที่ต้องควบคุมในการทิ้ง

 

นอกจากนี้ซีพีแรมยังมีแผนต่อยอดโครงการโซลาร์ฟาร์มซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพื้นที่ซึ่งเบื้องต้นมองพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจเพราะการเคลื่อนย้ายค่อนข้างลำบาก

 

“ตอนนี้ทั่วโลกรังเกียจที่จะนำฟอสซิลมาเผาไหม้เป็นพลังงาน แนวโน้มในอนาคตคนที่ทำให้เกิดสาร CFC อาจต้องถูกลงโทษด้วยการขึ้นภาษี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนที่ใช้พลังงานสอาดที่จะต้องนำเงินมาเสียภาษีไปด้วย แต่ต้องดูในอนาคตอีกทีว่าทิศทางนโยบายของโลกและนโยบายพลังงานของแต่ละประเทศจะเป็นไปในทิศทางไหน

 

แต่เชื่อว่า Green Energy จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการผลิตไฟฟ้าหลายองค์กรเริ่มพัฒนาหลังคาให้เป็นโซลาร์เซลล์และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เพราะประเทศไทยไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจะพลังงานลมได้ ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ แม้จะเป็นพลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพสูงแต่ประชาชนมีความกลัวจึงกลายเป็นเรื่องของการเมืองไป”

 

เส้นทางสู่ Go Green ของซีพีแรม น่าจะเป็นต้นแบบที่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรอื่นๆ ได้ไม่น้อย ทั้งที่เกิดประสิทธิภาพบวกและลบ และสำคัญคือช่วยลดการใช้พลังงานและสร้างให้ “โลกร้อน” ได้เป็นอย่างดี

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,737 วันที่ 5 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564