สกัดวัตถุอันตรายนำเข้าผิดกฎหมาย

04 พ.ค. 2559 | 15:55 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2559 | 23:24 น.
Breaking-News กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมศุลกากร อายัดวัตถุอันตราย 20 ตัน ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจพบเป็นวัตถุอันตรายที่ไม่มีทะเบียนและใบอนุญาตนำเข้า สุ่มตัวอย่างตรวจสอบพบว่าเป็นสารกำจัดแมลงที่อยู่ในกระบวนการขอยกเลิกการขึ้นทะเบียน 2 รายการ แจ้งความดำเนินคดีกับ 2 ผู้นำเข้าแล้ว

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งจากด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ว่าได้อายัดวัตถุอันตรายทางการเกษตรไว้จำนวน 20.2 ตัน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการนำเข้าโดยบริษัทเอกชน 2 ราย เนื่องจากไม่มีใบทะเบียน และใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  ที่กรมวิชาการเกษตรดูแลอยู่

ต่อมาบริษัทได้มีหนังสือแจ้งว่าสินค้าดังกล่าวส่งมาผิด จึงจะขอส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง กรมวิชาการเกษตรเกรงว่าสินค้าดังกล่าวจะถูกลักลอบนำกลับเข้ามายังประเทศไทยอีก จึงได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตรายทางการเกษตร นักวิชาการ นิติกร และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบังของกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามของกรมศุลกากรไปตรวจสอบเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า เป็นวัตถุอันตรายชนิดใด

ผลการตรวจสอบพบว่า เป็นสารกำจัดแมลงตามบัญชีวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบจำนวน 6 รายการ ในจำนวนนี้ 5 รายการ เป็นสารเข้มข้นมากกว่า 90% ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran)
ไพมีโทรซีน (pymetrozine) อิมิดาโคลพริด (imidacloprid) ไทอะโคลพริด (thiacloprid) และไซโปรโคนาโซล (zyproconazole) รวม 4.2 ตัน และตรวจพบ เมโธมิล (methomyl) สูตร 40% SP ซึ่งเป็นสารสำเร็จรูปอีก16 ตัน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวต่อไปว่า วัตถุอันตรายที่ตรวจสอบดังกล่าวมีวัตถุอันตราย 2 รายการ คือ คาร์โบฟูราน และ เมโธมิลที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนมาหลายปีแล้ว  เพราะเป็นสารที่อยู่ในกระบวนการขอยกเลิกการใช้ (ban)

“การที่บริษัทนำเข้ามาโดยไม่มีทะเบียนและใบอนุญาต เป็นการกระทำความทำผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และหากสารเหล่านี้หลุดรอดไปได้ สามารถนำไปผสมเจือจางเป็นสารกำจัดแมลงที่ขายตามท้องตลาดได้มากกว่า 40 ตัน ไม่นับรวม เมโธมิลที่จำหน่ายได้เลย การเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมศุลกากรจึงเป็นการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทางของการกำกับดูแลการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งระบบ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว