รพ. เอกชน พร้อม ‘เปิดประเทศ’ Medical & Wellness Tourism คึกคัก

30 ต.ค. 2564 | 15:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2564 | 22:14 น.
594

เปิดประเทศ 1 พ.ย. ดันตลาด Medical and Wellness Tourism คึกคัก “รพ.เอกชน” เร่งเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งด้านสถานที่ แพ็กเกจ บุคลากร “บำรุงราษฎร์” ประเดิมเช่าเหมาลำแอร์บัส ขนคนไข้เมียนมา มาใช้บริการ ขณะที่แห่โทรสอบถามทะลุ 300%

Medical and Wellness Tourism ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง จากข้อมูลของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน พบว่าในปี 2560-2562 Medical Tourism มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 3.6 ล้านคนต่อครั้ง มีรายได้จากการท่องเที่ยว 41,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 9,195 คน ขณะที่ Wellness Tourism มีจำนวนนักท่องเที่ยว 12.5 ล้านคนต่อครั้ง รายได้จากการท่องเที่ยว 409,200 ล้านบาท และ เกิดการจ้างงานกว่า 530,000 คน

 

อย่างไรก็ดีการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบทำให้ตลาดการท่องเที่ยวและบริการทางการแพทย์ ในปี 2563 ชะลอตัว ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 และคาดว่าจะส่งผลไปยังปี 2565 แต่การประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาใช้บริการ และทำให้ตลาด Medical and Wellness Tourism กลับมาคึกคักขึ้น โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำจึงต้องเร่งปรับแผน เตรียมความพร้อมรองรับ

รพ. เอกชน พร้อม ‘เปิดประเทศ’ Medical & Wellness Tourism คึกคัก                 

คาดปี 64 หดตัว 90%

 

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 ไทยถือเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism ในเอเชีย จำนวน Medical Tourism ที่มาในไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่มาตรวจเช็คสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม ผ่าตัดกระดูกและหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ค่ารักษาพยาบาลให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไม่ต่ำกว่าปีละ 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 24% ของรายได้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด

 

แต่หลังเกิดโควิด-19 คาดว่าตลาด Medical Tourism ในปี 2564 หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนไม่ต่ำกว่า 90% (YoY) มีจำนวน Medical Tourism ราว 10,000-20,000 คน (ครั้ง) โดยตลาดคนไข้ที่คาดว่าจะหดตัวสูงคือ กลุ่มตะวันออกกลาง จีน และประเทศในอาเซียน ที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายได้คนไข้ต่างชาติทั้งหมด

 

ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะยังคงเป็นปีที่ท้าทายและยากลำบาก ซึ่งการฟื้นตัวของตลาด Medical Tourism จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโควิดและการฉีดวัคซีนในประเทศ หากการระบาดระลอกนี้คลี่คลายได้ภายในสิ้นปี 2564 โดยการติดเชื้อไม่เกิน 1,000 คนต่อวัน และไม่มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น กลุ่ม Medical Tourism น่าจะทยอยกลับมา และคาดว่าจำนวน Medical Tourism ปี 2565 น่าจะอยู่ที่ราว 130,000-180,000 คน (ครั้ง)

 

มาตรการเข้มรับ 1 พ.ย.                    

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาเซียนและกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาล เมดพาร์ค เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่ไทยประกาศพร้อมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ พบว่า มีคนไข้จากต่างชาติติดต่อเข้ามาเพื่อใช้บริการแล้ว โดยโรงพยาบาลเมดพาร์คได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของสถานที่ที่สามารถจะรองรับได้ทุกเชื้อชาติ ศาสนา มีแพทย์ที่มีประสบการณ์รักษาชาวต่างชาติ มีล่าม และมีเจ้าหน้าที่ดูแลชาวต่างชาติที่จะเข้ามาอย่างพร้อมเพรียง

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับโรงแรมต่างๆในการตรวจคัดกรองตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนดสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยหากเกิดเคสที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถดูแลต่อเนื่องได้เนื่องจากโรงพยาบาลมีการจัดแบ่งโซนและจัดสรรพื้นที่ไว้อย่างดี

 

ทั้งนี้การเปิดในช่วงแรก สำหรับโรงพยาบาลเมดพาร์คคนไข้ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีชาวต่างชาติบ้างแต่ไม่มาก โดยรพ. ได้ให้บริการวัคซีนกับประชาชนทั่วไป รวมทั้งชาวต่างชาติโดยความร่วมมือของกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตต่างๆนั้น ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในระยะหลังก็จะมีชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยเข้ามาตรวจสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เพราะเชื่อมั่นในความสะอาด ปลอดภัย สำหรับคนไข้ที่อยู่ต่างประเทศก็มีใช้บริการผ่านทางเทเลเมดดิซีนเป็นครั้งคราว

 

กรีนลิสต์ เปิดทางต่างชาติเข้าไทย

 

ด้านภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หลังวันที่ 1 พ.ย. จะเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์สำหรับ 46 ประเทศที่จะได้ “กรีนลิสต์” เดินทางเข้ามาในไทยโดยที่ไม่ต้องกักตัว ซึ่งจะมีกลุ่มประเทศหลักๆ ที่มีคนไข้ของรพ.บำรุงราษฎร์ด้วย โดยคาดการณ์ว่าหลังวันที่ 1 จะมีคนไข้เดินทางเข้ามาค่อนข้างเยอะมาก

 

ตอนนี้มีการสอบถามเข้ามาถึง 300 % เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้และภายในวันที่ 4 พ.ย. บำรุงราษฎร์จะจัดเช่าเหมาลำเครื่องบินแอร์บัส 130 ที่นั่ง พาคนไข้ที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์มารักษาที่รพ. บำรุงราษฎร์ คาดว่าน่าจะมีคนไข้ประมาณ 40 คนพร้อมญาติอีกราว 40 คนเดินทางมากับไฟล์ทนี้

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์

นอกจากนี้คาดว่าการให้บริการรักษาโรคเฉพาะทาง ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การรักษาต่อมลูกหมากด้วยไอน้ำ ฯลฯ จะเป็นอีกหนึ่งการให้บริการทางการแพทย์ที่ชาวต่างชาติน่าจะให้ความสนใจมาก และจะกลายเป็นอีกหนึ่งบริการชูโรงถึงความโดดเด่นของบำรุงราษฎร์ในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเน้นในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด

 

ชงแพ็กเกจ-โปร ล่อใจ                      

 

นพ.สันติ เอื้อนรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดบริการเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ปริมาณชาวต่างชาติที่มาใช้บริการเมื่อรวมกับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วคิดเป็นสัดส่วน 5% ของจำนวนผู้มาใช้บริการทั้งหมด โดยอันดับหนึ่งคือ จีน 36% รองมาได้แก่ เมียนมาร์ อังกฤษ อเมริกา และสิงคโปร์ เป็นต้น

 

หลังจากการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยหลักการแล้วคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่จำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยและข้อจำกัดการเดินทางเข้ามาจากกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป

รพ. เอกชน พร้อม ‘เปิดประเทศ’ Medical & Wellness Tourism คึกคัก

ทั้งนี้รพ.วิมุตได้เตรียมความพร้อมสำหรับกลุ่มชาวต่างชาติที่ติดต่อผ่าน Agent หรือตัวแทนต่างๆ ไว้แล้ว ในเชิงระบบงานได้เตรียมข้อมูลต่างๆของโรงพยาบาล ทั้งด้านการบริการ แพ็กเกจและโปรโมชั่นที่ทำให้เห็นค่าใช้จ่ายที่ง่ายต่อการตัดสินใจ ทั้งภาษาหลักและภาษารอง รวมไปถึงล่ามในภาษาต่างๆ หากมีความจำเป็น ซึ่งปัจจุบันนี้ในกลุ่มชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย (Expat) ทางโรงพยาบาลได้มีการติดต่อประสานเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะรองรับหากมีจำนวนชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,727 วันที่ 31 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564