ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์-ซิลลิคฯ MOU ซื้อโมเดอร์นา 8 ล้านโดส

17 ก.ย. 2564 | 13:59 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2564 | 21:02 น.

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามสัญญาซื้อ-ขายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา กับ ซิลลิค ฟาร์มา 8 ล้านโดส พร้อมฉีดได้ไตรมาส 1/2565

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา (Covid-19 Vaccine Moderna) จำนวน 8 ล้านโด๊สให้แก่ประเทศไทย สำหรับการใช้เป็นวัคซีนเข็มหลักและเข็มกระตุ้น ให้แก่กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ในไตรมาส 1 ปี 2565

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาด ด้วยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชนทั่วไป องค์กรธุรกิจภาคเอกชน

 

กลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังได้มุ่งเน้นด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย และมีแผนจะทำการศึกษาอย่างมีระบบควบคู่กันไป เพื่อเป็นการยืนยันผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนในสภาพแวดล้อมของประเทศ เริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์-ซิลลิคฯ MOU ซื้อโมเดอร์นา 8 ล้านโดส

“ความร่วมมือกับ ซิลลิค ฟาร์มา ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญและความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง และขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างเท่าเทียม

 

ตามพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์”

 

ด้านนางสุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์  ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทรู้สึกได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์น่าให้แก่ประชาชน ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเป็นทางการของโมเดอร์นาในประเทศไทย

 

แซดพี เทอราพิวติกส์ ได้นำเอาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทางพาณิชย์ที่โดดเด่นมาสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเสริมสร้างเกราะป้องกันที่จำเป็นในอนาคตต่อสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล (Variants of Concern) เมื่อมีข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาทางคลินิก และได้รับการอนุมัติการขึ้นทะเบียนโดยหน่วยงานภาครัฐแล้ว

วัคซีนโมเดอร์นา

เช่นเดียวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวาระก่อนหน้านี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกระจายวัคซีนส่วนหนึ่งให้กับหน่วยงานเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อ โดยจะมีการกำหนดราคาขาย พร้อมค่าประกันการฉีดวัคซีน ในราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป

 

ทั้งนี้ซิลลิค ฟาร์มา นำเสนอบริการระดับโลกในการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้า บริการด้านดิจิทัลและการพาณิชย์ ให้แก่สถานพยาบาลกว่า 350,000 แห่ง และทำงานร่วมกับกลุ่มลูกค้ากว่า 1,000 ราย รวมถึงบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำ 20 อันดับแรกของโลก

 

ในประเทศไทย บริษัทมีความพร้อมด้านคลังสินค้าและการจัดเก็บแบบควบคุมอุณหภูมิด้วยมาตรฐานระดับโลก โดยมีพื้นที่รวมกว่า 40,000 ตร.ม. อีกทั้งมีประสบการณ์กว่า 70 ปีในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้จัดจำหน่ายวัคซีนกว่า 80% ของประเทศในปัจจุบัน

 

สำหรับวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา (Covid-19 Vaccine Moderna) เป็นวัคซีนประเภท mRNA ในการต้านโควิด-19 ด้วยการสังเคราะห์โปรตีนที่มีลักษณะคล้ายโปรตีนหนาม (Spike Protein) ของไวรัส เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 โมเดอร์นาได้ประกาศผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเบื้องต้นของผลการศึกษาทางคลินิกระยะที่สาม

 

ซึ่งทำการทดลองในผู้เข้าร่วมการทดลอง 196 ราย และในวันเดียวกันบริษัทยังได้ประกาศว่า ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุมัติใช้ในภาวะฉุกเฉิน (EUA) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) และยื่นขอการอนุมัติแบบมีเงื่อนไข (CMA) กับสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA)

วัคซีนโมเดอร์นา

ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (US FDA) ได้อนุมัติการใช้ในภาวะฉุกเฉินสำหรับวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป โมเดอร์นายังได้รับการอนุมัติการใช้ในภาวะฉุกเฉิน (หรือแบบมีเงื่อนไข หรือเป็นการชั่วคราว) จากหลายหน่วยงานด้านสาธารณสุข

 

ได้แก่ แคนาดา อิสราเอล สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ กาตาร์ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทย บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย ปารากวัย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้บรรจุวัคซีนนี้ในรายการวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน (EUL) 

 

นอกจากนี้ โมเดอร์นายังได้ยื่นขออนุมัติการใช้ในภาวะฉุกเฉิน (หรือแบบมีเงื่อนไข หรือเป็นการชั่วคราว) สำหรับวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา เพื่อใช้ในกลุ่มวัยรุ่นกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในสหภาพยุโรป แคนาดา สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่นอีกด้วย